ฉลองครบรอบ 20 ปี มาตรฐานฮาลาลไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย (สมฮท.) จัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “THAILAND HALAL ASSEMBLY 2018” ปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “บูรณาการฮาลาลแม่นยำ ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ” ยกระดับกิจการฮาลาลไทยสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ณ ไบเทค บางนา โดยมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานจัดงาน Thailand Halal Assembly 2018 กล่าวว่า การจัดงาน “Thailand Halal Assembly” หรือ THA นั้น เริ่มจัดขึ้นในปี 2014 โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ในฐานะเจ้าภาพหลักร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย (สมฮท.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรศาสนาอิสลามมาโดยตลอด จึงทำให้งาน THA ถือเป็นงานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลนานาชาติที่นับว่าดีที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุด
ซึ่งงานดังกล่าวเป็นการจัดงานที่รวบรวมงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์ฮาลาลประเทศไทยมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ที่จะแสดงศักยภาพของกิจการฮาลาลประเทศไทย ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นในระบบและกระบวนการดำเนินงาน ภายใต้หลักการ ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ อันเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยเป็นที่เชื่อถือในตลาดโลก การจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ
“Thailand Halal Assembly 2518” หรือ THA 2018 ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค (BITEC) กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Precision Halalization in The Bioeconomy Era” หรือ “บูรณาการฮาลาลแม่นยำในยุคเศรษฐกิจชีวภาพ” เพื่อส่งเสริมให้กิจการฮาลาลประเทศไทยพัฒนาสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ ซึ่งการบูรณาการฮาลาลแม่นยำ คือ ระบบที่บูรณาการมาตรฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ากับกระบวนการฮาลาล โดยความสำเร็จครั้งนี้ย่อมนำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ที่คำนึงถึงคุณค่าของสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหาร รังสรรค์ประเทศไทยสู่ความมีประสิทธ์ภาพควบคู่ความพอเพียง การบูรณาการฮาลาลแม่นยำ เป็นความพยายามของไทยในการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อการรับรองฮาลาล ไม่ว่าจะการตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลโดยนำระบบ H-number ที่พัฒนาขึ้นใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกวัตถุดิบฮาลาลได้อย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องตรวจการปนเปื้อนในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อีกต่อไป และเลือกใช้ห้องปฏิบัติการเฉพาะที่จำเป็น ในระบบการมาตรฐานฮาลาลมีการพัฒนาระบบ HAL-Q Plus เพื่อให้การดำเนินงานการมาตรฐานฮาลาลเป็นไปอย่างจำเพาะโดยใช้เวลาสั้น และเลือกทำเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนหะรอมเท่านั้น
โดยกิจกรรมภายในงาน THA 2018 ประกอบด้วยงานประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล ครั้งที่ 11 (Halal Science, Industry and Business International Conference; 11th HASIB 2018) รวมกับงานแสดงสินค้า Thailand International Halal Expo 2018 (TIHEX) ที่รวมผู้ประกอบการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า 350 บูท,
การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานฮาลาลจากหน่วยงานตรวจรับรองฮาลาลทั่วโลก, การประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, กิจกรรมธุรกิจภิวัฒน์, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล, การจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนงานด้านฮาลาลต่อไป
และพิเศษสุดภายในปีนี้กับ นิทรรศการ “ฉลอง 20 ปี มาตรฐานฮาลาลไทย” จากจุดเริ่มต้นในการกำหนดมาตรฐานฮาลาล CODEK มาสู่มาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย โดยการบูรณาการศาสนบัญญัติอิสลามเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล ภายใต้แนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” มุ่งหวังผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอาหารโลก รูปแบบความร่วมมือที่ชื่อว่า “ฮาลาลเพชรจากประเทศไทย” หรือ Thailand Diamond Halal เพื่อแสดงถึงความเป็นที่หนึ่งในโลกของฮาลาลประเทศไทยด้วยมาตรฐานฮาลาลของประเทศ รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย