(13 ธันวาคม 2561) ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ: ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้บริหารศูนย์วิจัยแห่งชาติ แถลงข่าวผลงานประจำปีและทิศทางดำเนินงานปีหน้า ในงาน “สวทช. เปิดกลยุทธ์ 6-6-10 ติดปีกอุตสาหกรรม นำนวัตกรรมไทยสู่สากล (NSTDA Beyond Limits: 6-6-10)” เผยปี’61 โชว์ศักยภาพวิจัย สร้างผลกระทบ 4.5 หมื่นล้านบาท เกิดงานวิจัยไทยในระดับสากล พร้อมเปิดแผนปี’62 กับกลยุทธ์ 6-6-10 เน้น 6 งานวิจัยเสาหลัก (6 Research Pillars) 6 งานวิจัยชั้นแนวหน้า (6 Frontier Research) และ 10 กลุ่มใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. (10 Technology Development Groups: TDGs) มุ่งมั่นส่งมอบงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. ดำเนินการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนในทุกมิติ พร้อมส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ดัง 5 ผลงานแนวหน้า สวทช. ได้แก่เอ็นไซม์โปรติเอส (Enzyme Protease) เพื่อการพัฒนาอาหารสัตว์ปลอดภัย ผลงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์ดูดจับสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์” โดยนาโนเทค
ผลิตภัณฑ์ไลโซไซม์ eLysozymeTM สารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาว โดยไบโอเทค ผลิตภัณฑ์ข้อเข่าเทียม โดยเอ็มเทค ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) โดยเนคเทค และ PTEC สู่มาตรฐานห้องปฏิบัติการฯ ระดับอาเซียน ตลอดปี 2561
สวทช. มุ่งมั่นพัฒนา วทน. สู่การใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายประเทศไทย 4.0 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 546 เรื่อง มากกว่า 1 ใน 4 ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชั้นนำของโลก ได้รับการนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ รวมถึงได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรมากถึง 383 รายการ ขณะที่การถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ถ่ายทอดผลงาน 261 โครงการให้กับหน่วยงานต่างๆ รวม 335 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 45,000 ล้านบาท (45,310) ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้าน วทน. ของภาคการผลิตและบริการ ค่าเกือบ 14,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยัง มีกลไกสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น อาทิ เทคโนโลยีราคาเดียว 30,000 บาท มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 485 รายการ / ภาษี 300% มีการรับรอง 404 โครงการ มูลค่า 1,313 ล้านบาท / บัญชีนวัตกรรมไทย ได้อนุมัติผู้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย 270 ผลงาน
โดยสำนักงบประมาณประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้วทั้งสิ้น 226 ผลงาน / โครงการ Startup Voucher สนับสนุนเงินด้านการตลาด 87 ราย มูลค่ากว่า 64 ล้านบาท สร้างรายได้รวม 915 ล้านบาท / โปรแกรม ITAP สนับสนุน SME จำนวน 1,610 ราย มีการลงทุน 737 ล้านบาท สร้างผลกระทบมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท (3,039) และศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ ให้บริการมากกว่า 50,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 180 ล้านบาท (184.25) ขณะที่ด้านการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ทุนการศึกษาพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพที่มีศักยภาพให้กับประเทศมากกว่า 790 คน สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานในห้องปฏิบัติการของศูนย์แห่งชาติ 324 คน และส่งเสริมพัฒนาเยาวชนเข้าสู่อาชีพนักวิจัย
เช่น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ Asia Pacific Conference on Giftedness (APCG 2018) และด้านการเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร 6,781 คน 264 ชุมชนใน 35 จังหวัด จัดทำ 19 ชุดความรู้เทคโนโลยี ผลักดันให้เกิดกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูป 2 กลุ่ม (มะม่วงและกะหล่ำปลี)
พร้อมพัฒนาเกษตรกรแกนนำผู้ประกอบการนวัตกรรม 825 คน ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน @ วิจัยตอบโจทย์ประเทศด้วย
โครงการ BIG ROCK สวทช. มุ่งมั่นใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ได้แก่ โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ (BIG ROCK) เช่น โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนหรือ Coding at School Project ฝึกเยาวชนเขียนโปรแกรมด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โครงการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ วิจัย และใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและชุมชน (National Biobank) โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่อการผลิตสมุนไพร (Plant Factory) และโครงการขยายผลงานวิจัย DentiiScan เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย เป็นต้น @ วิจัยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพิ่มรายได้เกษตกร สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีผลผลิตสูง สามารถต้านทานต่อโรค แมลง และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ “บิวเวอเรีย”
ควบคุมและกำจัดเพลี้ยแป้ง การประเมินและทดสอบพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับชนิดดินต่างๆ ของประเทศ การขยายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 3-4 ตัน/ไร่ เป็น 5-6 ตัน/ไร่ ส่งผลให้ในปี 2561 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 9.34 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังพิรุณ 4 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นใหม่โดย สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิชาการเกษตร พื้นที่ปลูกรวมกว่า 3,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ลำปาง และนครสวรรค์ ให้ผลผลิตหัวสดสูง ปริมาณไซยาไนด์ในหัวสดต่ำ สามารถรับประทานได้ เหมาะสำหรับทำแป้งฟลาวที่ปราศจากสารกลูเต็น ทดแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ อีกทั้งได้เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพิรุณ 4 กับกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลผลิต ยกระดับการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น มันแผ่นอบกรอบ (มันชิพ) บราวนี่อบกรอบ มันบอล เป็นต้น
รวมถึงยังมีการแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การสร้างธุรกิจ โรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสง บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี “ทั้งหมดนี้เป็นผลงานเพียงบางส่วนในปี 2561 ที่เกิดจากความร่วมแรงใจของนักวิจัย บุคลากร สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ที่มุ่งสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องและมุ่งเป้า เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการ สร้างชาติให้เข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน”
ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ @ ปี 62 เปิดกลยุทธ์วิจัย 6–6-10 ติดปีกอุตสาหกรรมไทย สู่เวทีโลก ดร.ณรงค์ เปิดเผยต่อว่า ในปี 2562 ทิศทางและกรอบการพัฒนา วทน. จะใช้กลยุทธ์ 6–6–10 ซึ่ง 6 ตัวแรก คือ เป็นไปตาม 5 Research Pillar รวมกับอีก 1 Agenda–based ขณะที่ 6 ตัวต่อไปคือ การสร้างศักยภาพสำหรับ วทน. แบบชั้นสูง (Advanced STI) ที่จะใช้แข่งขันในศตวรรษที่ 21 หรือเรียกว่าเป็นการทำ 6 Frontier Research และ 10 คือ กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแบบจับต้องได้ โดย Technology Development Groups (TDGs) ที่ สวทช. มุ่งเป้าวิจัยและพัฒนามีด้วยกัน 10 แบบ ดังนี้ (1) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ (Biochemicals) (2) สารสกัดที่จะนำมาใช้ทำเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มสมุนไพร (3) ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ (Biopharmaceutical) ครอบคลุมทั้งยา วัคซีนหรือแอนติบอดี้ที่อาจใช้รักษามะเร็งได้ (4) การทำวิจัยการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ที่จะนำไปสู่การตั้งคลังข้อมูลพันธุกรรม (5) งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัลที่ใช้กับอุปกรณ์ช่วยการผ่าตัดหรือชิ้นส่วนทดแทนอวัยวะต่างๆ (6) Food & Feed เป็นกลุ่มที่ศึกษา Functional Ingredients ในอาหารคนและอาหารสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย (7) เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เน้นการใช้ข้อมูลการเจริญเติบของพืชต่างๆ โดยเฉพาะสมุนไพรในการควบคุมการปลูกแบบเบ็ดเสร็จในระบบปิด หรือการทำ Plant Factory (8) Mobility & Logistics ศึกษาระบบโครงสร้างการขับเคลื่อนมอเตอร์ การชาร์จไฟ ระบบควบคุมและให้สัญญาณ และต้นแบบชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบา 9) พลังงาน เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่แบบแพ็คที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาวัสดุกับระบบพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ เช่น ไบโอดีเซล เป็นต้น และ (10) Dual-use Defense เช่น การพัฒนาเครื่อง Jammer สำหรับโดรน และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่า 10 TDGs จะเชื่อมโยงกับพื้นฐานงานวิจัยเดิม สวทช. ที่มีความเข้มแข็งอยู่ตาม 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ คือ เนคเทค ไบโอเทค เอ็มเทค และนาโนเทค โดยการทำวิจัยทั้ง 10 เทคโนโลยี และ 6 Frontier จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติที่ดีพอ จึงเกิดการจัดตั้งโครงการ National Biobank Center, Genome Research Center of Thailand, Thailand Supercomputer Center, Center for Cyber–Physical Systems และ Center for Life Cycle Assessment ขึ้นมารองรับ ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่พร้อมจะเติบโตไปเป็นศูนย์ระดับชาติหรือนานาชาติต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวต่อว่า ยังมีงานวิจัยแบบ Agenda–based ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งงานกลุ่มนี้ประกอบด้วยเรื่องเฉพาะที่เร่งด่วน และต้องการความสามารถเฉพาะด้าน แบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ (1) Dual-Use Technology เทคโนโลยีสร้างเสริมความมั่นคงประเทศ หรือประยุกต์ใช้ในงานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น การใช้ระบบกวนโดรน (Jammer) เครื่องตรวจจับและติดตามอากาศยานไร้คนขับ (UAS) ซึ่งประสบการณ์ทำ T-Box และทำงานร่วมกับกองทัพมายาวนาน ทำให้นักวิจัย สวทช. พัฒนาความรู้ความสามารถด้านนี้ได้เป็นอย่างดี และรู้ความต้องการของผู้ใช้งานชัดเจน (2) Rail and Modern Transportation ครอบคลุมการพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า จนถึงระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งระบบรางจะทวีความสำคัญกับการเดินทางหลักในเมืองใหญ่และระหว่างเมือง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าจะทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมันในอนาคตอันใกล้ เตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติด้านพลังงาน และการขนส่งของประเทศในอนาคตอันใกล้ และ (3) Medical Devices and Assistive Technology การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งเรื่องเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ใช้สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยไทยยังขาดความพร้อมในหลายด้าน ตัวอย่างผลงาน เช่น DentiiScan เครื่องเอกซเรย์ 3 มิติทางทันตกรรม ซึ่งประเทศเรายังต้องการอุปกรณ์การแพทย์จำพวกนี้อีกมากทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทั้งหมดนี้ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมที่จะ Go Beyond Limits โดยใช้ศักยภาพของ วทน. ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นคำว่า “ประเทศกับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศไทย 4.0 นำพาอุตสาหกรรมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยวิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป