บ้านกลาง หมู่ ๒ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
“เข้าวัดไหว้พระ ดูสระในตำนาน เล่าขานโพธิ์พันปี ของดีสี่มุมเมรุ”
ประวัติความเป็นมา
เดิมพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งป่าชายเลนและป่าไม้เบญจพรรณ เป็นแหล่งอาศัยหากินของโขลงช้างป่า จากหลักฐานและการเล่าต่อกันมา มีสระน้ำที่เกิดจากการนอนเกลือกกลิ้งของช้างซึ่งมีอยู่ ๒ สระด้วยกัน ชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า สระหน้าโบสถ์ (ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่ง เป็นบ่อน้ำใช้ในวัด) และสระตาอ๋อ (พื้นที่บริเวณนี้ ในเวลาต่อมาได้ถวายเป็นของวัดและถูกถมกลบไปแล้ว) ซึ่งสระเหล่านี้ เป็นหลักฐานและเป็นที่มาของชื่อ ตำบลบางสระเก้า และด้วยตามลักษณะของพื้นที่มีหมู่บ้านอื่นล้อมรอบ จึงมีชื่อว่า บ้านกลาง หมู่ ๒
ในอดีตพื้นหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน สัตว์ป่า และสัตว์น้ำนานาชนิด มีการสันนิษฐานว่าชาวชองเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่ ติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวนและคนไทยจากภาคใต้โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการจอดเรือสินค้า จากการติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ สร้างหลักปักฐาน ทำมาหากินสร้างครอบครัว ขยายเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน
บ้านกลางเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของตำบล โดยบรรพบุรุษเห็นว่าพื้นที่ตอนกลางของตำบล ควรจะเป็นที่รวมใจของคนในตำบลได้ การเดินทางของหมู่บ้านอื่นก็ไม่ได้ไกลนัก จึงได้สร้างวัดและโรงเรียนขึ้นเป็นศูนย์กลางของตำบล เป็นที่ตั้งของคำว่า บวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน
ไหว้พระ ดูสระ
ของดีมีอยู่ใน “วัดบางสระเก้า” กราบสักการะหลวงพ่อเต่า ที่ศาลาบูรพาจารย์ และชมสระน้ำในตำนานโบราณ สระที่ ๙ ที่อยู่คู่กับตำบลบางสระเก้ามาช้านาน
บ้านทอเสื่อ
ของดีขึ้นชื่อ “เสื่อจันทบูร” แวะมาชมกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จากวัตถุดิบธรรมชาติ กลายมาเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า
ตลาดสี่มุมเมรุ
แหล่งของฝากนักช้อป ทั้งอาหารทะเลสด แห้ง และแปรรูป เหมาของอร่อยก่อนกลับ ทั้งทานเองและซื้อเป็นของฝาก
ศูนย์ศิลป์เสื่อ
จุดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์เสื่อกกมากมายหลากหลายแบบ ทั้งแบบเต็มผืน และแบบแปรรูป อาทิ หมวก กระเป๋า
ผลิตภัณฑ์
เสื่อกก น้ำพริกแกง สละลอยแก้ว ขนมมัดใต้ กะปิ กล้วยฉาบ แกงเป็ด ชาถั่งเช่าสีทอง กาแฟโบราณ ข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง
ข้อมูลติดต่อ
บ้านกลาง หมู่ ๒ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
คุณชาตรี พลอยศิริ โทร. ๐๙๘ ๙๓๐ ๖๒๓๑