บ่ายวันที่ 5 พ.ย. นายสุวิทย์ บุตรพริ้ง บรรณาธิการเพจสืบจากข่าวได้ไลฟ์สดเปิดโปงขบวนการฉ้อฉลภายใน ขสมก. ภายหลังจากบอร์ด ขสมก.มีการประชุมวาระเร่งด่วนในวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้นำเรื่องการแก้สัญญาโดยตัดเครื่องหยอดเหรียญ “แคชบ็อกซ์” ออกจากสัญญาเดิมแจ้งให้ที่ประชุมบอร์ดทราบ ซึ่งนายณัฐชาติ กำลังโกหกประชาชนอีกแล้วคล้ายกับเมื่อครั้งลักไก่มติบอร์ดจัดซื้อรถเมล์ เอ็นจีวี.489 คันที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน นายสุวิทย์ กล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมบอร์ด ขสมก.วันที่ 26 ต.ค.มีวาระเรื่องการขอมติบอร์ดแก้ไขสัญญาตัดอุปกรณ์ แคชบ็อกออกจากสัญญาเดิมที่ ขสมก.ได้ทำไว้กับคู่สัญญา บริษัท ช ทวี จำกัด ตั้งแต่มิ.ย. 60 ซึ่งในสัญญาและข้อกำหนดใน ทีโออาร์.ระบุการส่งมอบไว้อย่างชัดเจนว่า งวดที่ 1.บริษัท ช ทวี ต้อง ติดตั้งระบบ อีทิคเก็ต จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์เพื่อให้ระบบ อีทิคเก็ต สามารถใช้งานได้ตั้งแต่อุปกรณ์บนรถโดยสารประจำทาง ระบบคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศที่อู่โดยสาร และระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางและระบบสารสนเทศ ส่งมอบภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ข้อนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์และระบบต่างๆได้ งวดที่ 2.ติดตั้งระบบ อีทิคเก็ต จำนวนไม่น้อยกว่า 700 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์เพื่อให้ระบบ อีทิคเก็ต สามารถใช้งานได้เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบสารสนเทศตามมาตรฐานตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม ส่งมอบ ภายในระยะเวลา 180 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ข้อนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์และระบบต่างๆได้ และงวดที่ 3.ติดตั้งระบบ อีทิคเก็ต สำหรับรถโดยสารประจำทาง จำนวนที่เหลือทั้งหมดจนครบ 2,600 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ทั้งหมดที่นำเสนอในโครงการนี้ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ส่งมอบ ภายในระยะเวลา 365 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตรงตามสเปคและตามกำหนดเวลาได้เลย แต่ ขสมก.ยังฝืนเดินหน้าโครงการต่อไปเพื่ออะไร ทั้งๆที่ ขสมก.ได้รับความเสียหายมานานข้ามปี นายสุวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมบอร์ด ขสมก.ยังเน้นย้ำไม่ให้บรรจุเรื่องการแก้ไขสัญญาดังกล่าวเข้ามาในที่ประชุมอีกหลังจากมีความพยายามยัดเยียดนำเข้ามาไม่ต่ำกว่า 3 รอบ ในครั้งนี้ที่ประชุมบอร์ดมีมติไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่โยนเผือกร้อนให้นายประยูร ช่วยแก้ว ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ตัดสินใจเองได้โดยตำแหน่งผู้อำนวยการ เช่นเดียวกับกรณีที่ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.คนก่อนหน้าที่ใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการ ขสมก.ยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถโดยสาร เอ็นจีวี. 489 คันมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาทจากบริษัทเบสทริน โดยไม่นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อขอมติยกเลิกสัญญาแต่ใช้วิธียกเลิกสัญญาก่อนแล้วจึงไปแจ้งให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบในภายหลัง ในที่ประชุมมีบอร์ดท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบความคุ้มค่าของอุปกรณ์อีทิคเก็ต โดยใช้ตารางรายงานการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่นางพณิดา ทองสุข ประธานกรรมการตรวจรับฯระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิวันละ 10,000 คนนำมาคูณด้วยอัตราค่าโดยสาร 6.50 บาท/คน ขสมกจะมีรายได้ 65,000 บาท/วัน หรือ 1,950,000 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าน้อยมากและเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเช่าอุปกรณ์อีทิคเก็ต บริษัทเอกชนคิดค่าเช่าวันละ 190 บาท/คัน ตามสัญญาทั้งหมดคือ 2,600 เครื่อง ขสมก.ต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันละ 494,000 บาทในขณะที่ ขสมก.มีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 65,000 บาท ขสมก.จะต้องแบกรับค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เอกชนถึง 429,000 บาท/วันหรือ 12,870,000 บาท ตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวด้วย