สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. ที่มีภารกิจตามความในมาตรา 7 ของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)พ.ศ. 2529
ในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน กับเจ้าของที่ดินที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์ หรือเจ้าของที่ดินที่ยังไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่ ได้ดำเนินโครงการ “ตลาดกลางที่ดิน”
เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างเจ้าของที่ดินและกลุ่มเกษตรกร ล่าสุดได้จัดเสวนา เพื่อระดมความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของ “ตลาดกลางที่ดิน”
เพื่อนำสู่การจัดทำรูปแบบตลาดกลางที่ดินที่เหมาะสม สอดพ้องกับความต้องการของทั้งเจ้าของที่ดินและผู้ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อไป โดยมีกลุ่มเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วม 180 คน
พลโท ชาญชัย ภู่ทอง ประธานคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 320.6 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 149.2 ล้านไร่ และที่ดินของประเทศกว่าร้อยละ 70 ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำให้ประเทศชาติสูญเสียรายได้กว่า 1.27 แสนล้านบาทต่อปี
ในขณะเดียวกันไทยมีเกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกินที่รอรับการจัดสรรทั้งสิ้น 800,000 ราย (ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)
บจธ. จึงเริ่มแนวคิด “ตลาดกลางที่ดิน” โดย บจธ. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของที่ดินและเกษตรกรผู้ประสงค์ใช้ที่ดิน และจะให้การสนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับข้อตกลงในการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ สัญญาเช่าซื้อ เช่าหรือเช่าช่วง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายทั้งในเรื่องของราคา และการใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมในเรื่องของการตลาด การผลิต และเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินกล่าวว่า บจธ.ทำหน้าที่ตรงกลางเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน ซึ่งการเสวนาในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเสนอแนะเรื่องตลาดกลางที่ดินว่าควรมีรูปแบบอย่างไร เพื่อเอาไปพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมและจะเริ่มดำเนินการเลย โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน 180 คน มีทั้งฝ่ายเจ้าของที่ดินที่สนใจอยากเข้าร่วมมาจากทุกภาค และฝ่ายเกษตรกรที่สนใจจะใช้ประโยชน์จากที่ดิน สำหรับรูปแบบของตลาดกลางที่ดิน บจธ. จะจัดทำเป็นเวปไซต์เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่ต้องการซื้อ หรือใช้ประโยชน์ที่ดิน และเจ้าของที่ดินที่มีความต้องการนำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ หรือต้องการจะขาย มาลงทะเบียนไว้ในเวปไซต์ของตลาดกลางที่ดิน
บจธ. จะช่วยเป็นตัวกลางในการจับคู่ทั้งสองฝ่าย โดยการให้บริการจะมี 4 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การเป็นตัวกลางในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดย บจธ.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้ต้องการใช้ที่ดิน โดยบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และแนะนำการทำนิติกรรมรูปแบบต่างๆ อย่างเป็นธรรม รูปแบบที่ 2 การให้เช่าซื้อที่ดิน เมื่อเจ้าของที่ดินและผู้ต้องการใช้ที่ดินประสงค์จะดำเนินการในรูปแบบของการเช่าซื้อที่ดิน และมีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์ที่ บจธ.กำหนด บจธ.จะซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินและนำมาให้ผู้ต้องการใช้ที่ดินเช่าซื้อ ซึ่งในระหว่างอายุสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วน รูปแบบที่ 3 การให้สินเชื่อเพื่อการเช่าที่ดิน ในกรณีที่ บจธ. ทำหน้าที่ประสานให้เจ้าของที่ดิน และผู้ต้องการใช้ที่ดินตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินกัน โดยผู้เช่าที่ดินขอสนับสนุนสินเชื่อจาก บจธ. เพื่อใช้ในการชำระค่าเช่าที่ดินตามสัญญา ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของที่ดินได้รับชำระค่าเช่าอย่างแน่นอน ทั้งนี้ บจธ. จะประเมินความสามารถในการสนับสนุนสินเชื่อให้เป็นรายงวด รูปแบบที่ 4 การเป็นตัวกลางในการเช่า หรือเช่าช่วง บจธ. เช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ และนำที่ดินแปลงดังกล่าวให้ผู้ต้องการใช้ที่ดินเช่าช่วง โดยเจ้าของที่ดินจะได้รับค่าเช่าตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ บจธ. จะคิดค่าดำเนินงานโดยจัดเก็บจากผู้เช่าช่วง “บจธ.จะดูแลมีเงินให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 200,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังมีเงินช่วยในการซื้อเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับใช้ทำการเกษตรอีกรายละ 5,000 บาท” ส่วนเกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินอาจมีการรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์ เป็นกลุ่มเกษตรกร และปัจเจคบุคคล และชี้เป้าที่ดินที่ต้องการเข้าทำการเกษตร ลงทะเบียนกับบจธ. มีการตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง
หลังจากนั้นทางบจธ.จะจับคู่ตามความต้องการ ส่วนระยะเวลาในการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ทางบจธ.จะให้เป็นการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย พลโท ชาญชัย กล่าวเสริมว่า ผลที่ได้จากการตั้งตลาดกลางที่ดินจะส่งเสริมให้มีการนำที่ดินออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เกิดการพัฒนาในระบบเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ไร้ที่ดินทำกิน สามารถเข้าถึงที่ดิน ใช้ประโยชน์จากที่ดินในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน