สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำผลงานวิจัย “ระบบคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติ” ร่วมแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 - 13 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. ให้ข้อมูลว่า ผลงานวิจัยเรื่อง ระบบคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน DeepEye
ที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวก และกล้องถ่ายจอตาที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน สามารถใช้งานง่ายและราคาถูก โดยขั้นตอนและวิธีการตรวจคัดกรองสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ และถ้าเป็นโรคก็สามารถคัดแยกระดับความรุนแรงของโรคได้ทั้ง 5 ระดับ ได้แก่ No DR, Mild NPDR, Moderate NPDR, Severe NPDR และ PDR ซึ่งเป็นการใช้ขั้นตอนวิธีการเรียนรู้เชิงลึก และเป็นเทคนิคหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นระบบสนับสนุนในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมต่อกับกล้องถ่ายภาพจอตาแบบพกพาได้ทุกรุ่น สามารถตรวจคัดกรองได้รวดเร็ว และมีความแม่นยำเทียบเท่าจักษุแพทย์
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวนับเป็นการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่ยังไม่มีผู้ใดทำมาก่อน ภายใต้ทุนสนับสนุนที่ไม่สูงมาก แต่สามารถลดการนำเข้าเครื่องมือวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคตาในพื้นที่ที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
ด้าน ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอตา ต้ประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยโรคมีข้อจำกัด บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น
“ระบบคัดกรองผู้ป่วยฯ ที่งานวิจัยได้พัฒนาขึ้น เป็นการคัดกรองเบื้องต้นที่สามารถทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนจักษุแพทย์ โดยในระยะต่อไป สวรส. ได้มีการวางแผนเรื่องการประเมินผลงานวิจัยในมิติต่างๆ อาทิ คุณภาพและมาตรฐาน ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ ความพึงพอใจของผู้รับบริการ รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการผลิตและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น” ดร.จุไรรัตน์ กล่าว