แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรมซึ่งทำให้รัฐบาลปัจจุบันมุ่งหวังที่จะสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยด้วยการมุ่งส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีทั้งการผลิตที่จะเน้นในเรื่องของการลดต้นทุน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และ ที่สำคัญคือการตลาดโดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยยังคงประสบปัญหา หลักคือ สินค้าเกษตรมีจำนวนมากแต่กลับหาตลาดไม่ได้ และบ่อยครั้งแม้ว่าราคาสินค้าเกษตรหลายอย่างจะมีราคาที่ดีเมื่อส่งถึงมือผู้บริโภค แต่ราคาดังกล่าวกลับตกถึงมือเกษตรกรจริงๆ เพียงน้อยนิด นั่นเพราะต้องส่งผ่านไปยังพ่อค้าคนกลาง….หากปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเกษตรกรของไทยก็จะลดน้อยถอยลง ซึ่งคงจะไม่ดีนักเนื่องจากเศรษฐกิจไทยนั้นมีข้อดีที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการ ที่เมื่อภาคอุตสาหกรรมและบริการย่ำแย่แรงงานเหล่านี้ก็กำลับไปทำภาคเกษตรได้
ตัวอย่างยุโรปอเมริกาและญี่ปุ่น ที่มีเกษตรกรอยู่เพียงส่วนน้อยแต่เป็นรายใหญ่ ประชาชนที่เหลือจึงกลายเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและพนักงานบริษัท ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นกลัวการตกงานเป็นอย่างมาก เพราะอาชีพรองรับด้านการเกษตรไม่มีเหมือนบ้านเรา ….ดังนั้นโครงการ” Farm to Factory “ น่าจะเป็นรูปแบบที่จะตอบโจทย์ของการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างดี
เนื่องจากโครงการนี้เริ่มจากแนวคิดที่ต้องการหาตลาดให้เกษตรกร โดยสามารถนำสินค้าที่มีมาจำหน่ายได้โดยตรงให้กับผู้ที่ต้องการสินค้าหรือผู้ซื้อที่ไม่ต้องการผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาอย่างเป็นธรรม และหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนและส่งเสริมได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)
แนวทางดำเนินงานที่สำคัญ คือ กนอ.และ กลุ่มอมตะ จะดึงโรงงานที่ตั้งในนิคมฯเข้าร่วมโครงการเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับพนักงาน ซึ่งโรงงานแต่ละแห่งนับได้ว่ามีจำนวนประชากรที่เป็นแรงงานมากกว่า 1,000 คน จึงถือเป็นตลาดที่มีแรงซื้อมากพอสมควร ดังนั้นทำให้การกระจายสินค้าของชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง และมีความต่อเนื่อง เพราะแต่ละโรงงานจะเปิดพื้นที่หมุนเวียนให้กับเกษตรกรได้จัดจำหน่ายภายใต้โครงการดังกล่าว
นอกจากแรงงานจะได้ซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงที่มีคุณภาพสด ใหม่แล้ว ทางด้านสถานประกอบการในนิคมฯเองก็ยังสามารถจัดซื้อสินค้าทางการเกษตรนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบเป็นอาหารเพื่อจำหน่ายให้กับพนักงานในโรงงาน โดยผลิตภัณฑ์จะมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาหารของสถานประกอบการได้อีกทางหนึ่งด้วย
ปัจจุบันมีชุมชนรอบกลุ่มอมตะเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น จำนวน 6 ชุมชน ในพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดจังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย กลุ่มโรงสีชุมชนโคกเพลาะกลุ่มปลาสดชุมชนโคกเพลาะ ชุมชนปลาแดดเดียว จากชุมชนเกาะลอย ชุมชนบางหัก กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้ง ของชุมชนบางหัก และชุมชนบ้านโพธิ์ เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนำร่องที่ชุมชน มีความพร้อม เพื่อนำจัดจำหน่ายภายในโรงงาน ประกอบด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ได้แก่
1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวสารจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ปลาสดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ไข่ไก่จากเกษตรกรทำฟาร์มไข่ไก่ และ 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งจากเกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้ง โดยในอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือไปยังชุมชนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สินค้ามีการขยายออกไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวนับเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มอมตะฯ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนชุมชนรอบโรงงานให้สามารถอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน โดยเรื่องนี้ นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองว่า“โครงการFarm to Factory จึงนับเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากทุกภาค ส่วนในการที่จะยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ด้วยชุมชนเอง จากการเชื่อมโยง ทางการตลาดขนาดใหญ่ภายในนิคมฯ ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์ การพัฒนาความยั่งยืน หรือ(Sustainability Development Roadmap)ของกลุ่มอมตะ เพื่อก้าวไปสู่ การเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สมบรูณ์แบบเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ”