“ดร.กอบศักดิ์” มอบนโยบาย วช. ชู 4 เรื่องหลักมุ่งพัฒนาตามยุทธศาสตร์ 4.0



การทำงานแบบบูรณาการเพื่อให้การวิจัยการวิจัยเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาสำคัญของแต่ละพื้นที่ มีการทำงานร่วมกับชุมชน เมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องใช้งานได้จริง ตรงกับความต้องการ พร้อมนำความรู้นั้นไปขยายต่อยอดลงสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 13.00 น. ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่บุคลากร วช. โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงภายหลังการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่บุคลากร วช. ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการนำ “งานวิจัย” มาเป็นอีกกลไกสำคัญที่ใช้สร้างโอกาสและผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยในระยะเร่งด่วนจะร่วมผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดทำขึ้นต่อท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้ทำหน้าที่

1. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ หรือเป็น “เสนาธิการ” ทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ บูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมมีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน การดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

2. เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่หน่วยกำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “วิจัยกินได้” ของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ “จะเป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนต้องการและอยากได้ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนและสังคมทั่วประเทศไทยต่อไป” โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการเรื่อง “การขยายผล ธนาคารปูม้า” ไปแล้ว และยังมีอีกหลายโครงการที่เร่งรัดขับเคลื่อนต่อไป เช่น การกำจัดผักตบชวา การแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ

3. ทำหน้าที่ประสาน กำกับ และติดตามการบริหารจัดการงบประมาณรูปแบบใหม่กับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดให้มีงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศแบบมุ่งเป้า ท้าทายไทย เกิดประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และมอบหมายให้ วช. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเปิดรับ “โจทย์ปัญหาใกล้ตัวของประชาชนไทย” เพื่อกำหนดเป็นโจทย์โครงการ “ท้าทายไทย” คัดเลือกโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด และพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยวิชาการ ให้เป็น Excellent Center ของประเทศต่อไป

4. การจัดทำฐานข้อมูลสำหรับระบบวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากร งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2561 วช. วางแนวทางในขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล 3 แนวทาง คือ 1) การบูรณาการเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2) การใช้องค์ความรู้จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 3) การบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของการทำงาน โดยในโครงการ "ปั้นดาว" ภายใต้แนวคิด "วิจัยกินได้"  วช.และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีความเข้มแข็งในเชิงการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน การสนับสนุนการขยายสเกลการผลิตสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกแผนงานจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแบบมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนตามประเด็นยุทธศาสตร์และตามรายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าผลสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม