พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2561”Sustainable Energy Technology Asia 2018 (SETA 2018) ในหัวข้อ “Towards Consolidated Innovation Energy Technology-การใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียตรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัด กทม. ร่วมในพิธีเปิด
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลังงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประทศมาโดยตลอด และเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อยอดสู่การพัฒนาทุกด้าน ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม แรงงาน สังคม ตลอดจนภาคครัวเรือนล้วนต้องพึ่งพาพลังงานทั้งสิ้น ดังนั้นนโยบายของรัฐ จำเป็นต้องมีแนวทางพัฒนาพลังงาน 4.0 เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน ตลอดจนส่งเสริมและใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาระบบต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและการส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งงาน SETA 2018 ครั้งนี้ มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ ด้านพลังงานที่จะได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงจัดแสดงผลงานนวัตกรรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นในโอกาสนี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน ได้แก่ กังหันลมแกนตั้งชนิดเดเรียส ที่สามารถเริ่มหมุนได้ด้วยตัวเอง แบตเตอรี่ต้นแบบ สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า และ เซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพเพื่อการบำบัดน้ำเสีย และผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้
กังหันลมแกนตั้งชนิดเดเรียส ที่สามารถเริ่มหมุนได้ด้วยตัวเอง (Darries vertical axis wind turbine) ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับกังหันลมแบบแกนนอนที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้แก้ปัญหาให้กังหันลมแกนตั้งให้สามารถหมุนได้ด้วยตัวเองจากที่ไม่สามารถหมุนได้ด้วยตัวเอง ด้วยการออกแบบรูปร่างของใบพัดขึ้นมาใหม่ โดยใช้แบบจำลองเชิงตัวเลข พร้อมกับใช้เทคนิคการพับขึ้นรูปอะลูมิเนียมเพื่อให้ได้ใบพัดที่แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ไม่มีแรงต้านการหมุนที่เกิดจากแม่เหล็ก เพื่อลดแรงต้านการหมุนของใบพัดให้สามารถหมุนตัวได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการการทดสอบภาคสนามที่สถานีพลังงานแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต แสดงผลการเริ่มหมุนได้ด้วยตัวเองที่ความเร็วลม 3.6 เมตรต่อวินาที มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 400 วัตต์ที่ความร็วลม 8 เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มทางเลือกของการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนให้มีศักยภาพและเหมาะสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวยังช่วยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับองค์ความรู้ใหม่เรื่องกังหันลมเริ่มต้นหมุนด้วยตัวเองที่ความเร็วลม 3 เมตรต่อวินาที ทำให้ กฟผ. ใช้เป็นพื้นฐานการปรับปรุงประสิทธิภาพของกังหันลมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย
แบตเตอรี่ต้นแบบ สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า นักวิจัยศูนย์เอ็มเทค สวทช. ดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว เพื่อต้องการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่ ในระดับโมดุลและแพ็กในประเทศไทย โดยมุ่งไปสู่การวิจัยเพื่อให้มีรถยนต์ไฟฟ้าโดยคนไทย ซึ่งปัจจุบันศูนย์เอ็มเทค และศูนย์เนคเทค สวทช. ร่วมกับสถาบันยานยนต์ สามารถพัฒนาต้นแบบแพ็กแบตเตอรรี่สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ สำหรับต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 4 โมดุล มีจำนวนเซลล์ 1,408 ก้อน มีความจุไฟฟ้า 228.8 แอมแปร์-ชั่วโมง (Ah) เมื่อนำไปประกอบใช้กับรถยนต์นั่งไฟฟ้า สามารถวิ่งได้ระยะทาง 160 กิโลเมตร วัสดุและชิ้นส่วนทั้งหมดผลิตในประเทศไทย โดยส่งมอบต้นแบบให้กับสถาบันยานยนต์ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ร่วมสนับสนุนแล้ว
และผลงาน เซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพเพื่อการบำบัดน้ำเสีย และผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ (Microbial Fuel Cell) มาร่วมจัดแสดง โดยนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ผลิตต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพ ที่เปรียบเสมือนถังปฏิกรณ์แปลงค่าความสกปรกในน้ำเสีย โดยอาศัยกระบวนการทางชีวเคมีไฟฟ้าในการบำบัดน้ำเสียทั้งในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมได้สูงถึง 98% COD removal (ค่าปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์ด้วยวิธีการทางเคมี) และผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ ทั้งนี้ต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพที่พัฒนาขึ้น อยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนาม มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพของต่างประเทศ และมีศักยภาพสูงในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียร่วมกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ในอนาคต
งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2561” หรือ SETA 2018 จัดขึ้นตั้งแต่ 21-23 มีนาคม 2561 ที่ฮอลล์ 103-104 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการได้ฟรี