โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. และ รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP ม.พะเยา ในการดำเนินการ “เครือข่าย ITAP มหาวิทยาลัยพะเยา” มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 15 รายต่อปี นับเป็นเครือข่ายโปรแกรม ITAP แห่งที่ 19 ในระดับภูมิภาค เสริมแกร่งการให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงเกิดนวัตกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนให้ SME มีศักยภาพแข่งขันต่อได้
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สวทช. ดำเนินงานโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) มาตั้งแต่ปี 2536 ให้การสนับสนุน SME แล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดย ITAP สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย มาช่วยในการทำโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 1,300 ราย แต่ยังไม่เพียงพอต่อความช่วยเหลือ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งภาคการผลิตและบริการ และยังขาดทรัพยากรด้านต่างๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการเงินและบุคลากร
“ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการดำเนินงานเครือข่ายโปรแกรม ITAP จะช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และหลากหลาย เนื่องจากมหาวิทยาลัยพะเยา มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายสาขา และมีเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนที่ทันสมัย เอื้อประโยชน์ต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน โดยความร่วมมือจะช่วยสร้างกลไกการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการจากภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนและครบวงจรมากขึ้น ทั้งนี้ สวทช. จะสนับสนุนองค์ความรู้และถ่ายทอดกระบวนการสนับสนุน SME ผ่านกลไกของโปรแกรม ITAP ให้กับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถให้บริการ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง สวทช. และมหาวิทยาลัย จะช่วยกันส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น สนับสนุนให้ SME เติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างยั่งยืน เป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยพะเยา มุ่งกระจายโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และภูมิภาคอื่นด้วย การตั้งโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยาขึ้น โดยความร่วมมือของ สวทช. เพื่อเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือด้านบริการวิชาการแก่สังคม อาศัยองค์ความรู้จากผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจร่วมกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งในปี 2561 มีเป้าหมายจะให้บริการ SME ไม่น้อยกว่า 15 ราย และเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 10 ราย คาดจะช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในภาคธุรกิจ สร้างความร่วมมือด้านบริการวิชาการกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และยกระดับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ”
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวสริมว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SME อย่างต่อเนื่อง ITAP เป็นโปรแกรมหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบขยายผลเพื่อสนับสนุน SME ได้มากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2560 ITAP ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสนับสนุนจากประมาณ 400 รายเป็น 1,000 ราย และมีแผนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าที่ 3,000 รายต่อปี ทั้งนี้ ITAP ได้ปรับกลยุทธ์ทำงานในรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา จะมีการนำกลไก ITAP ไปใช้ในการสนับสนุน SME ให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมสนับสนุนแก้ไขปัญหาและทำวิจัยและพัฒนา ครอบคลุมหลากหลายสาขา และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น จะส่งผลให้มี SME ที่สามารถแก้ไขปัญหาและวิจัยพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และเกิดนวัตกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนให้มีศักยภาพแข่งขันต่อได้ ซึ่งคาดหวังว่าความร่วมมือตลอด 3 ปีนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา SME โดยรวมของประเทศต่อไป”
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP ม.พะเยา กล่าวเสริมว่า “ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยา แบ่งการดำเนินงานและให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย เน้นใน 4 กลุ่มหลักคือพลังงานและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และเทคโนโลยีและสารสนเทศ ครอบคลุมการให้บริการภาคอุตสาหกรรมเขตภาคเหนือ โดยปัจจุบันสนับสนุน SME แล้วกว่า 10 โครงการ อาทิ การพัฒนากระบวนการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินของโรงงานรีไซเคิลน้ำมันเชื้อเพลิงใช้แล้ว การพัฒนาเตาเผาแบบแก๊สซิไฟเออร์เพื่อการผลิตใบชาอบแห้ง การพัฒนาระบบรายงานและบันทึกข้อมูลภาคสนามด้วยโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถนอมผิวและความงามจากใบงาม้อน เป็นต้น