สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ส.ป.ก. ครบรอบ 43 ปี วันที่ 6 มีนาคม 2561 ณ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “43 ปี ส.ป.ก. สานต่อศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ภายในงานมีการจัดนิทรรศการโดยน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช ในพื้นที่การปฏิรูปที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละภูมินิเวศ ผสมผสาน วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค ทำให้เกษตรกรมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งคาราวานร้านค้าจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก แต่ละจังหวัดกว่า 80 บูธ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2561 เวลา 08.00-17.00 น.
นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2518 ตลอดระยะเวลา 43 ปี แห่งการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ได้ดำเนินการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้เกษตรกร จำนวน 2.8 ล้านราย เนื้อที่ประมาณ 35 ล้านไร่
• จัดเป็นที่ดินทำกิน ใน 67 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับจัดที่ดิน 2,198,721 ราย เนื้อที่ 34,990,480 ไร่
• จัดเป็นที่ดินชุมชน หรือที่อยู่อาศัย ใน 62 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับจัดที่ดิน 587,846 ราย เนื้อที่ 368,859 ไร่
• จัดที่ดินเอกชน ใน 5๓ จังหวัด มีเกษตรกรได้รับจัดที่ดิน 29,175 ราย เนื้อที่ 469,030 ไร่
• ใช้พื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจและพื้นฟูสภาพแวดล้อมนับจากปี พ.ศ. 2545 – 2560 เนื้อที่รวม 107,067 ไร่
นอกจากนี้ ส.ป.ก. ยังมีกิจกรรมที่ดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร 40,684 ราย พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องฯ (Smart Farmer) 22,268 ราย พัฒนาผู้แทนเกษตรกร 39,801 ราย มีศูนย์เรียนรู้ฯ 7,118 แห่ง (ขยายผลให้ความรู้กับเกษตรกร 760,541 ราย) สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ 49,548 ราย พัฒนาความรู้ผ่านกระบวนการวิสาหกิจชุมชน 142,502 ราย อบรมเกษตรกรภายใต้แนวทางพระราชดำริ 29,942 ราย มีนิคมเศรษฐกิจพอเพียง 156 แห่ง นิคมการเกษตร 58 แห่ง บริการให้สินเชื่อเงินกองทุนฯ ให้แก่เกษตรกรไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 11,132.926 ล้านบาท และการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นนโยบายการจัดที่ดินให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินของรัฐบาล
ด้านนายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า “ในปี 2561 เป้าหมายหลัก ในการดำเนินงานของ ส.ป.ก. ยังคงเน้นการจัดที่ดินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ให้ได้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมุ่งเน้นการจัดที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร พัฒนาอาชีพเกษตรกรรม จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกด้านตามความเหมาะสมและจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ตลอดระยะเวลา 43 ปี ส.ป.ก. ยึดมั่นในศาสตร์พระราชา โดยได้นำหลักพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินงาน คือ การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน และต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินที่ได้รับอย่างเต็มที่ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงหรือแม้แต่การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 43 ปี ของ ส.ป.ก. ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นประจำของทุกปี ในปีนี้นอกจากการทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณีแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดนิทรรศการด้านการเกษตร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ประยุกต์ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น โคก หนอง นา โมเดล เป็นการจัดการพื้นที่ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด ผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อเป้าหมายการพึ่งตนเองการแสดงผลงานการวิจัยในเขตปฏิรูปที่ดิน การมอบรางวัลแด่ข้าราชการดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งจะต้องเข้ารับรางวัลครุฑทองคำ ในวันข้าราชการพลเรือน วันที่ 1 เมษายน 2561 ณ ทำเนียบรับบาล, Talent of the year, รางวัลชนะเลิศการเขียนบทความทางวิชาการ และรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ 43 ปี ส.ป.ก. เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างพนักงาน และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และที่พลาดไม่ได้การออกร้านค้าจำหน่ายสินค้าของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 72 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มสินค้า อาทิเช่น กลุ่มอาหารสด กลุ่มข้าวสารอาหารแห้ง กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มผ้าและของฝาก กลุ่มสมุนไพร และกลุ่มผัก เป็นต้น