สมาคมโรคไตฯ ร่วมกับสธ. หน่วยงานภาครัฐ จัดงานกิจกรรมวันไตโลก



ศ.นพ.เกรียงศักดิ์  วารีแสงทิพย์  นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ในปีนี้เนื่องจากวันไตโลก ตรงกับวันสตรีสากล นานาชาติจึงเห็นควรให้เน้นในเรื่องของโรคไตกับสตรีเป็นสำคัญ  เราจึงจัดงานภายใต้คำขวัญ "สตรีไทย ไตStrong" ขึ้น โดยในปัจจุบันจำนวนประชากรที่เป็นเพศหญิงของประเทศไทยมีจำนวนรวมกันมากกว่าประชากรชาย   ดังนั้นเรื่องของ สตรีกับโรคไต จึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในประเทศไทย พบว่าสาเหตุหลักของไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรวมกันมากกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการรับประทานอาหารรสหวาน หรือเค็มจัดและไม่ออกกำลังกายทำให้น้ำหนักตัวเกิน ซึ่งยังคงไม่สามารถสรุปได้ว่าเพศใดเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่ากัน แต่อย่างไรก็ดีเพศหญิงก็มีความเสี่ยงที่ต่างจากเพศชายในบางกรณี เช่น ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ สำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ โรคไตเรื้อรังทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง  โดยเฉพาะในรายที่การทำงานของไตลดลงอย่างมาก เมื่อผู้ป่วยมีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและได้รับการบำบัดทดแทนไตจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก แต่อย่างไรก็ดี  ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่การทำงานของไตยังดีก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ ผลของการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนอาจทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น ส่วนยาลดความดันโลหิตบางชนิดยังส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ จึงต้องเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษและอาจมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์  จึงควรปรึกษาแพทย์และวางแผนการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันการตั้งครรภ์เองก็ส่งผลกระทบต่อไตได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การแท้ง การตกเลือดหลังคลอด ทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันได้

              

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   (สปสช.) กล่าวว่า การเกิดโรคไตวายเรื้อรังในกลุ่มผู้หญิงมีความเสี่ยงไม่น้อยกว่าผู้ชาย จากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ปัญหาทางเดินระบบปัสสาวะและผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับภาวะการตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ไม่เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ยังต้องรับการบำบัดไปตลอดชีวิต จนทำให้เกิดภาวะล้มละลาย ส่งผลให้ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษาและต้องเสียชีวิตลง

จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งสิ้น จำนวน 39,411 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จำนวน 20,993 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 13,503 ราย  และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO จำนวน 4,951 ราย  ทั้งนี้จากจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใช้สิทธิบัตรทอง เป็นผู้หญิงจำนวน 20,125 ราย คิดเป็นร้อยละ 51 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งกว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมดนี้ เป็นหญิงวัยเจริญพันธ์อายุ 15-49 ปี และทั้งพบประวัติโรคร่วม ได้แก่ โรคเบาหวานร้อยละ 49 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 81 และโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร้อยละ 4.2 แต่อย่างไรก็ดีเพศหญิงก็มีความเสี่ยงที่ต่างจากเพศชายในบางกรณีเช่นความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับตั้งครรภ์  อาทิ ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เป็นต้น รวมถึงโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง จะเห็นได้ว่าโรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่คุกคามสุขภาพประชากรขณะนี้ และจากประมาณการณ์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564) จะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบเพิ่มเป็นจำนวน 59,209 ราย

“โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นโรคที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก ไม่เพียงแต่กระทบต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบต่อความมั่นคงของครอบครัว สปสช.จึงได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่แต่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ยังช่วยรับภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ให้ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล โดยในปี 2561 นี้ บอร์ด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณ 8,165.60 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุมและทั่วถึง”นพ.ชูชัย กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า สำหรับการทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. เพื่อทำการรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดเค็มของประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัยในของการรับประทานเค็ม จนทำให้เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ มากมาย โดยในรอบปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเองได้มีนโยบายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือโซเดียมแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่  ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 2 ด้าน คือ การบริโภคที่เหมาะสมและการออกกำลังกายที่เพียงพอ ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ของการพัฒนาว่าจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืนและเป็นสุข

                  ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่าโรคไตเป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นภัยเงียบที่เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ความเสี่ยงของโรคไตและผลกระทบของโรคไตในเพศหญิงอาจมีความแตกต่างโดยเฉพาะในภาวะตั้งครรภ์  ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารก จึงขอให้ทุกท่านตระหนัก มีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์และตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ  เรื่องของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสตรีเช่นกัน โดยเฉพาะในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (โดยเฉพาะเพศหญิง)ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบ ขัด ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือมีอาการปวดท้องน้อย สตรีบางรายอาจมีการติดเชื้อแบบซ้ำ ๆ ซึ่งบางรายสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์  มีบางครั้งเชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปบริเวณกรวยไต ทำให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเอว คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงได้ นอกจากนี้ในสตรีตั้งครรภ์ก็สามารถติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งรายที่เป็นรุนแรงก็อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ดังนั้นในสตรีตั้งครรภ์ควรได้รับการรักษาแม้ว่าจะไม่มีอาการ โดยทั่วไปการวินิจฉัยอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจปัสสาวะรวมไปถึงการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ การป้องกันโดยทั่วไปคือ การรักษาความสะอาด ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้ารัดจนเกินไป ดื่มน้ำให้เพียงพอ ปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

ด้านนายธนพลธ์  ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า  ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยโรคไต รอรับการบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก แต่มีผู้บริจาคไตประมาณ 300 รายต่อปี ซึ่งหมายความว่าในกลุ่มผู้รอบริจาคไตหนึ่งล้านคน จะมีผู้บริจาคเพียง 4.5 คนเท่านั้น ดังนั้นไม่มีกุศลใดยิ่งใหญ่เท่ากับการช่วยชีวิต   จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปทุกท่านมาร่วมงานในปีนี้ หรือจะมาร่วมลงชื่อเพื่อบริจาคไต ภายในงานนี้ ถือเป็นกุศลอย่างยิ่งใหญ่ในชีวิต หรือเข้าไปบริจาคได้ที่ ศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย หรือ www.organdonate.in.th หรือ สายด่วน 1666