ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลาง เป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ และได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นประเทศที่อาศัยฐานทรัพยากรเป็นปัจจัยในการผลิต เข้าสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ประเทศหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและก้าวสู่การเป็นกลุ่มรายได้ระดับสูง จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการผลิตในภาคเกษตร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกได้ดำเนินไปอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างการจ้างงานของประเทศเปลี่ยนแปลงไป ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิดความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาใหม่ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยภาพรวมของประเทศ ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า หากพูดถึงสถานการณ์กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบัน นักศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งรวมถึงนักศึกษาระดับ ปวช. และปวส. มีสัดส่วนผู้เข้าศึกษาในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สูงเมื่อเทียบกับสายสังคมศาสตร์ โดยพบว่า สัดส่วนนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์อยู่ที่ร้อยละ 60 ในปี พ.ศ.2559 แม้ว่าผู้เข้าศึกษาสายวิทยาศาสตร์จะมีสัดส่วนสูง แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรระดับช่างเทคนิคที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน สำหรับในระดับปริญญาตรี ปัจจุบันประเทศไทยมีนักศึกษาเข้าใหม่ระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยในปี พ.ศ.2559 มีสัดส่วนอยู่ที่เพียงร้อยละ 33.6 ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม เช่น สิงคโปร์ 59% ญี่ปุ่น 57% จีน 49% ฮ่องกง 41% และไต้หวัน 38% เป็นต้น (ข้อมูลจาก IMD World Competitiveness Yearbook 2016) เช่นเดียวกันกับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับปริญญาโทและเอก ยังคงมีจำนวนและสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับนักศึกษาสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยในปี พ.ศ.2559 มีนักศึกษาเข้าใหม่สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 11,348 คน ในขณะที่มีนักศึกษาเข้าใหม่ในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 29,633 คน คิดเป็นสัดส่วนนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 28 ของจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ทั้งหมด
“สวทน. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและกำกับด้าน วทน.ของประเทศ จึงได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นลำดับต้นๆ ผ่านการผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากร อาทิ โครงการบูรณาการการเรียนกับการทำงาน ในรูปแบบโรงเรียนในโรงงาน (WiL) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องด้านกำลังคนระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา การพัฒนาสตาร์ทอัพ ที่ สวทน. มีบทบาทในการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพ ครอบคลุมในหลายด้าน เช่น โครงการจัดทำข้อเสนอแก้ไขกฎหมายและระเบียบเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ โครงการส่งเสริมมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ นอกจากนี้ สวทน. ยังได้ดำเนินโครงการ สะเต็ม แล็บ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมของเด็กวัยเรียน รวมถึงโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน ซึ่งโครงการทั้งหมดเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญในการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะไปช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง” เลขาธิการ สวทน. กล่าว