จุฬาฯ ร่วมกับ ม.เอเชียอาคเนย์ จัดนิทรรศการวันดินโลก น้อมรำลึก เทิดพระเกียรติในหลวง ร.๙



ผู้จัดงานนิทรรศการวันดินโลก เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสำคัญที่ตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว ทางองค์การสหประชาชาติโดยหน่วยงาน FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก หรือ World Soil Day และเคยกำหนดให้ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีดินสากล เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดินและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก นอกจากนี้ หน่วยงาน IUSS (The International Union of Soil Sciences ) หรือสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เคยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม หรือ The Humanitarian Soil Scientist เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ นับเป็นความภูมิใจที่ประชาชนชาวไทยควรทราบและร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในวันนี้ของทุกปี

เหตุที่ดินมีความสำคัญและต้องมีการกำหนดวันดินโลกนั้นเป็นเพราะดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกและมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรง ทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เชื้อเพลิง อีกทั้งช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอนและบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มมากขึ้น หลายบริเวณมีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรโดยขาดการอนุรักษ์ ปรับปรุง บำรุงดิน ทำให้เกิดปัญหาการเสื่อมคุณภาพลงของดิน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งหากดินมีความเสื่อมโทรมที่รุนแรงมาก การฟื้นฟูดินให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนเดิมจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

สำหรับกิจกรรมวันดินโลกได้มีการจัดขึ้นโดยหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 500 แห่งในหลายสิบประเทศทั่วโลก กิจกรรมที่จัดขึ้นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นการจัดเชิงวิชาการ ให้ความรู้ผ่านการนำเสนอที่หลากหลาย หรือเป็นการจัดเชิงศิลปะแนวอนุรักษ์ เช่น ให้ผู้ร่วมงานสามารถทำงานศิลปะจากดิน ซึ่งมีด้วยกันหลายประเภท อาจจะเป็นการนำมาปั้น นำมาทาสี หรือนำมาตกแต่งเป็นงานศิลปะหลากหลายแบบ

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการจัดกิจกรรมวันดินโลก  ได้จัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหลักสูตรภาควิชานิเทศศิลป์  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ โดยสองสถาบันได้ร่วมจัดงานนิทรรศการดินดี “Din D” นำโดยนายเสริมสิน สมะลาภา นายกสภามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์   นายฉัททวุฒิ  พีชผล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และ ผศ.ภูวไนย ทรรทรานนท์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ภายในงานมีไฮไลน์ที่น่าสนใจในรูปแบบ Multimedia Installation Art  ให้ผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์ผ่านการนำเสนอด้วยจอขนาดใหญ่ติดผนังรอบด้าน และใช้เทคโนโลยีแสง สี เสียง เต็มรูปแบบ เพื่อให้เห็นผลงานที่เป็นความอุตสาหะและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เกี่ยวกับดิน ตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยตลอดมา นอกจากนี้นิทรรศการนี้ยังได้รับความร่วมมือที่สำคัญผ่านการสนับสนุนข้อมูลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาเรื่องดินและมีผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับสากล