5 พันธมิตร มอบรางวัลผู้ชนะการประกวดโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในงาน Thailand Tech Show 2017



ศูนย์ประสานโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สวทช. สวทน. คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ และองค์การยูนิโด จัดพิธีมอบรางวัลและใบประกาศนียบัตรโครงการ GCIP THAILAND 2016 หรือโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs แก่ทีม SMEs และสตาร์ทอัพที่ชนะการประกวดการคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดของประเทศไทย จำนวน 4 ทีม พร้อมเปิดพื้นที่แสดงผลงานทีมที่ชนะในงาน Thailand Tech Show 2017 โซน Clean Technology ร่วมกับบูธ GCIP Thailand ตลอดงานตั้งแต่ 20 - 24 กันยายน 2560 ณ ฮอลล์ 106 ไบเทค บางนา โดยมี Mr.Stein Hansen ผู้อำนวยการภูมิภาคและผู้แทนองค์การยูนิโด ดร.จุฑามณี มาศฉมาดล ผู้ประสานงานโครงการ UNIDO ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการ สวทช. และผู้ประกอบการเทคโนโลยีและพี่เลี้ยงที่ผ่านการอบรม ร่วมในงานมอบรางวัล

ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand หรือโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูนิโด (United Nations Industrial Development Organization) ดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และผู้ริเริ่มธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ ได้คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดของประเทศไทย ด้วยมุ่งหวังให้เกิดความสนใจและการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของไทยให้เพิ่มมากขึ้นจนเกิดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของประเทศได้ต่อไป โดยโครงการมุ่งเน้นใน 6 ด้าน ได้แก่ การใช้งานพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) การใช้ของเสียเป็นพลังงาน (Waste to Energy) พลังงานทดแทน (Renewable Energy) นวัตกรรมด้านงานก่อสร้าง (Green Building) และนวัตกรรมขนส่ง (Transportation) โดย สวทช. ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs ในด้านการจัดกิจกรรมฝึกอบรม สัมมนาที่เกี่ยวข้องจำนวน 8 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การวิเคราะห์การเงิน การวางแผนธุรกิจ การจัดการตลาด การจัดทำบัญชีธุรกิจ การจัดการตลาด การจัดทำบัญชีธุรกิจ การลงทุนและแหล่งสนับสนุนการลงทุน การวินิจฉัยและทิศทางการลงทุน และความรู้เกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือ LCA ในส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาด”

ทั้งนี้  โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งผู้ริเริ่มธุรกิจใหม่ (Start-ups) ที่คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดของไทย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในประเทศและระหว่างประเทศ และได้จัดกิจกรรมพิจารณาตัดสินรางวัล เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โดยจากจำนวนทีม SMEs และสตาร์ทอัพ ทั้งสิ้น 11 ทีมจาก 4  สาขา ผลปรากฎว่า ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมต้อม คาซาว่า (Tom Casava) จังหวัดกาญจนบุรี สาขานวัตกรรมการใช้ของเสียเป็นพลังงาน นำโดยนางพลอยฉัตรชนก วิริยาทรพันธุ์ รับเงินมูลค่า 30,000 USD พร้อมจะเข้าร่วมงาน Cleantech Open Global Forum ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ต่อไป และรางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล รับเงินมูลค่า 10,000 USD ได้แก่ รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมไฮบริดจ์ ซูปเปอร์แอเรเตอร์ (Hybrid Super Aerator) กรุงเทพฯ สาขานวัตกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำโดยนายบุญฤทธิ์ สูญพ้นไร่ รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมอีโคสมาร์ทกรีนเฮาท์ (Eco & Smart Green House) กรุงเทพฯ สาขานวัตกรรมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นำโดย นายคมสันต์ สุขเสนา และรองชนะเลิศอันดับ 3 ทีมไบโอเวย์ (Bioway) จังหวัดนครราชสีมา สาขานวัตกรรมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นำโดย นายสุบิน พันเลิศจำนรรจ์