มิติใหม่ เดินหน้าประเทศไทย มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ : ก้าวสู่อนาคตด้วยการวิจัย



         “ต่อไปนี้งานวิจัย จะไม่ได้อยู่แต่บนหอคอย ” ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย บุญแสง ผู้อำนวยการสำนักบริหาร โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ กล่าวภายในการจัดแสดงผลงาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 21 -22 พฤษภาคม    ที่ผ่านมา “เมื่อก่อน ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับงานวิจัยยังมีน้อย จึงมองว่า งานวิจัยเข้าถึงยาก ทำแล้วไม่เห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ใช้งานไม่ได้จริง การวิจัยในประเทศไทยจึงค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด  ไม่ได้รับความสนใจ หรือมีการพัฒนาได้มากเท่าที่ควร จนเมื่อเกิดโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ เมื่อปีงบประมาณ 2554 โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัย จาก สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)  เรียกได้ว่าเป็นงบประมาณที่สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการด้านการวิจัยมากขึ้น”
         “สำหรับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (NRU) ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  นอกจากนี้  ยังมีโครงการ พัฒนามหาวิทยาลัยนอกกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอีก 70 แห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีคุณภาพ อีกทั้งยังก่อให้เกิดกระบวนการการทำงานเป็นกลุ่มวิจัย เชื่อมโยงและบูรณาการเครือข่ายงานวิจัยจากแต่ละมหาวิทยาลัยให้อยู่ในรูปซุปราคลัสเตอร์ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตรและอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม และด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ เพื่อผลิตผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบุคลากรวิจัยระดับสูง อันเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของประเทศในอนาคต”
        สำหรับภายในงาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ  ได้จัดแสดงผลงานการวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ การพัฒนาเกราะแข็งกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทสมรรถนะสูง จากเมตริกประเภทพอลิเบนซอกซาซีนเสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ โดย รศ. ศราวุธ ริมดุสิตและคณะ จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ความไม่สงบยังคงเป็นปัญหาสำคัญและก่อให้เกิดความสูญเสียกำลังทหารและพลเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ป้องกันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือการผลิตในประเทศก็มักจะมีระดับการป้องกันที่ไม่สูงนัก จึงได้พัฒนาและวิจัยวัสดุที่มีคุณสมบัติที่สามารถผลิตเป็นเกราะกันกระสุนสมรรถสูง  น้ำหนักเบา สามารถต้านทานการเจาะทะลุในระดับสูงได้ จากเดิม เกราะแข็งส่วนใหญ่ใช้วัสดุเป็นเส้นใยผสมโลหะ ซึ่งมักมีน้ำหนักเยอะและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคิดค้นและวิจัยวัสดุประเภท พอลิเมอร์คอมพอสิท ทดสอบและพัฒนาให้สามารถกระจายพลังงาน ดูดซับพลังงาน และทำลายหัวกระสุนได้ ซึ่งทางคณะวิจัย ได้ทำการพัฒนาเกราะกันกระสุนในระดับเกราะแข็งที่มีการป้องกันที่ระดับ III ตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากลที่ใช้ทั่วโลก มีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม จากเดิม 7-8 กิโลกรัม และที่สำคัญ สามารถนำไปใช้ผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนได้ ภายในงบประมาณที่มีอย่างจำกัดโดยมีต้นทุนการผลิตประมาณ 8,000 บาท ต่อหนึ่งชุดเกราะ 
        การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ เพื่อใช้ตรวจสอบท่อและผนังภายในหม้อไอน้ำ โดย ผศ.ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ เพื่อใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ในการซ่อมบำรุงท่อและผนังภายในหม้อไอน้ำ ในโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน  ที่มีความเสี่ยงในการทำงานสูง เนื่องจากมีระดับความสูงกว่าตึก 6 ชั้นและไม่มีแสงสว่าง โดยหุ่นยนต์จะมีแม่เหล็กติดอยู่กับล้อเพื่อเคลื่อนที่ในแนวดิ่งไปตามรางท่อ ในตัวหุ่นติดตั้งอุปกรณ์การทดสอบแบบไม่ทำลาย ด้วยอุปกรณ์ Electro Magnetic Acoustic Transducer ( EMAT) เพื่อการตรวจวัดความหนา – บางท่อและท่อผนัง นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบลักษณะภายนอกของท่อและผนังจากกล้อง VDO ด้วย หุ่นยนต์ต้นแบบเหล่านี้ สามารถนำมาพัฒนาและปรับปรุงเพื่อใช้ในการทำงานที่มีลักษณะความเสี่ยงสูงแทนมนุษย์อื่นๆได้อีกมากมายในอนาคตอันใกล้


         อีกงานวิจัยที่ได้รับความสนใจภายในงานอย่างยิ่ง ได้แก่ เครื่องวัดการทรงท่าของทารก Pedoscope  โดยนายอภัย จันทร์ธานี นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาโท จากสถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ ผศ.นพ.ภาริส วงศ์แพทย์ และ ดร.ปราการเกียรติ ยังคง ซึ่งคิดค้นและพัฒนา เครื่องวิเคราะห์การทรงท่าทางของเด็กเพื่อใช้วัดความสมมาตรของการทรงท่า โดยได้เก็บข้อมูลการวิจัยในรูปแบบที่วัดผลและประเมินได้  กล่าวคือ ได้ทดลองใช้เครื่องวัดการทรงท่าของทารกเพื่อเก็บข้อมูลการวิจัยและเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเด็กระหว่าง 2 – 4 เดือน พบว่า พัฒนาการเด็กก่อนวัย 3 เดือน จะมีการทรงตัวในท่านอนที่ไม่สมมาตร เอียงซ้ายขวาสลับไปมา แต่หลังจากอายุสามเดือน เด็กจะสามารถถ่วงดุลการทรงตัวได้อย่างสมดุล อยู่ในแนวกลางตัวได้มากและนานกว่า ดังนั้น ค่าเฉลี่ยที่ได้จะนำมาเป็นค่ามาตรฐานเพื่อการตรวจคัดกรองเด็กทารกที่มีพัฒนาการช้าได้อย่างแม่นยำ โดยสามารถพัฒนา ขยายผลการวิจัยเพื่อติดตั้งเครื่องวัดการทรงท่าของทารกไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งสำหรับพัฒนาการของเด็กที่ผิดปกติ หากตรวจพบได้เร็วจะช่วยลดความพิการถาวรลงได้


         ตัวอย่างการวิจัยที่นำมาจัดแสดงในงาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” ชี้ให้เห็นว่า การวิจัยในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเหล่านี้ มีความโดดเด่นมากในเชิงวิชาการ มีผลกระทบแก่ประชาชนในวงกว้าง และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจสูง สร้างคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม และสามารถสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในอนาคต
      “ผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2554 – 2556) สามารถสร้างผลงานวิชาการระดับชาติและนานาชาติได้กว่า 10,361 เรื่อง สร้างบัณฑิตนักวิจัยและบุคลากรวิจัยที่มีศักยภาพสูงกว่า 2,000 คน มีการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศกว่า 300 เรื่อง และได้มีต้นแบบผลิตภัณฑ์รวมถึงผลงานเชิงประจักษ์อีกกว่า 1,000 ชิ้น โครงการต่างๆ เหล่านี้ เป็นงานวิจัยที่สามารถสร้างประโยชน์และส่งผลกระทบไปสู่สังคมได้ในวงกว้างอย่างแท้จริง อันจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นแรงหนุนที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย” ศ.ดร.วิชัย กล่าว