บจธ.นำร่อง 5 ชุมชน แก้ปัญหาที่ทำกินพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน”



“เดินหน้าประชารัฐ…สู่ธนาคารที่ดิน” โดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. จาก 809 ไร่ แล้วเสร็จ 639 ไร่ เดินหน้าที่เหลือ 170 ไร่ ใช้งบเกือบ109 ล้านบาท นำร่องแก้ปัญหาที่ทำกินในชุมชน 5 แห่ง ชุมชนบ้านโป่ง ชุมชนบ้านไร่ดง ชุมชนบ้านแม่อาว ชุมชนบ้านแพะใต้ ชุมชนบ้านท่ากอม่วง พร้อมบูรณาการเพื่อความยั่งยืน

       ในการเสวนาเดินหน้าประชารัฐ…สู่ธนาคารที่ดิน ที่ตำบลบ้านแพะใต้ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน โดยมี นายมนัส อ่ำทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พลเอกวิทยา จินตนานุรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมด้วยแกนนำ 5 ชุมชนและประชาชนที่เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้

       นายสถิตย์พงษ์  สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน โดยมีภารกิจหลักในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกิน บจธ. จึงได้ดำเนินการศึกษาและทดลองปฏิบัติ เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานให้กับธนาคารที่ดิน สำหรับ “โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง ๕ ชุมชน”  เป็นโครงการที่ บจธ. ลงมาให้ความช่วยเหลือประชาชนใน ๕ ชุมชน ที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินมาเป็นเวลานาน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 (บ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15) ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านแพะใต้ หมู่ที่ ๗ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และชุมชนบ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

      แนวทางในการแก้ปัญหา บจธ. จะเข้ามาเจรจาจัดซื้อที่ดินจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินโดยสหกรณ์เช่าซื้อ ซึ่งแต่ละชุมชนจะจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เกษตรกรทุกคนจึงมีสิทธิ มีความรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่ โดยเบื้องต้น บจธ. จะให้สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ภายในระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี จากนั้นสหกรณ์ก็จะนำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรให้สมาชิก โดยสิทธิทำกินสามารถตกทอดไปสู่ลูกหลาน  แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังคงเป็นของสหกรณ์  ดังนั้น ที่ดินจะไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือ เกษตรกรจะได้มีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน

      ในการนำร่อง 5 ชุมชน ขณะนี้ได้จัดตั้งสหกรณ์รองรับเรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมด 4 สหกรณ์ คือ บ้านแพะใต้ จัดตั้ง สหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านแพะใต้ จำกัด บ้านท่ากองม่วง จัดตั้ง สหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านท่ากอม่วง จำกัด  บ้านโป่ง จัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน จำกัด  ส่วนบ้านไร่ดงไปสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์ของบ้านแม่อาว คือ สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนบ้านป่าซาง จำกัด

      ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การจัดซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด ประมาณ 809 ไร่ (278 แปลง) ทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว 639 ไร่ (153 แปลง) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อเกือบ 109 ล้านบาท ที่เหลืออีก 170 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนพื้นที่ในชุมชนบ้านไร่ดงและชุมชนบ้านอาว ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้อนุญาตให้สหกรณ์เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินเรียบร้อยแล้ว

    

เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชุมชนได้ในการประกอบอาชีพ  และอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ บจธ. จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสาน งานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้เหมะสมกับการประกอบอาชีพของชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน  บจธ. อาจสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามความเหมาะสม และจะจัดทำแผนหรือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน การผลิต การตลาด รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชน

    ทั้งนี้ ธนาคารที่ดินคาดหวังกันว่าจะเป็นองค์กรที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ช่วยลดปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินอันเนื่องมาจากการจำนองและการขายฝาก ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินสูงสุด

     นอกจากนี้ นายสมเจตน์ โรจน์พัฒนากุล ผู้อำนวยการจัดการที่ดินรัฐ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการที่ดิน ลงพื้นที่พร้อมสื่อมวลชน ในพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง   ชุมชนบ้านโป่ง ชุมชนบ้านไร่ดง ชุมชนบ้านแม่อาว ชุมชนบ้านแพะใต้ ชุมชนบ้านท่ากอม่วง ถึงปัญหาและผลกระทบเรื่องที่ดินในการทำการเกษตรของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกลำไย และชะอมไร้หนาม รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์