กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2560 โดยในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์หลากหลายด้านให้กับเยาวชน โดยนำกิจกรรมที่เน้นให้เยาวชนผู้เข้าชมงานได้ทดลองปฎิบัติจริง ซึ่งในปีนี้มีห้องกิจกรรมในหลากหลายเทคโนโลยีทั้งด้านอีเล็กทรอนิกส์ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านวัสดุศาสตร์ และด้านเคมี
นอกจากนี้ยังมีส่วนนิทรรศการ “CERN: งานวิจัยระดับโลก” เซิร์น เป็นองค์กรวิจัยระดับโลกอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ เป็นแหล่งรวมนักวิจัย วิศวกร และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกในการออกแบบ จัดสร้างเครื่องเร่งอนุภาค เครื่องตรวจวัดอนุภาค และวิจัยทั้งทางทฤษฎีและการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงการวิจัยที่เป็นฟิสิกส์แนวหน้า (Frontier Physics) ในงาน สวทช. ได้นำแบบจำลองเครื่องเร่งอนุภาคของเซิร์น ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่า เครื่องเร่งอนุภาค LHC (Large Hadron Collider) ที่ใช้จำลองเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) อันเป็นจุดกำเนิดของจักรวาลมาให้ชม และยังนำเสนอรายละเอียดโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศไทยกับหน่วยงานระดับโลกในการวิจัยพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งมีการส่งเยาวชนไทยไปเข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี
รายละเอียดห้องกิจกรรม
-ห้องกิจกรรม ไฟฉายแอลอีดี ให้เยาวชนได้ลองประดิษฐ์ไฟฉายจากหลอดแอลอีดี ซึ่งเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมจะได้ลงทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนกระทั่งประกอบเป็นไฟฉายพร้อมการใช้งาน
-ห้องกิจกรรม เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จัดแสดงเครื่องมือและกรรมวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ให้เยาวชนที่ร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากนักวิจัยโดยตรง และในขั้นตอนสุดท้ายเป็นการย้ายพืชจากกระถางเพาะชำให้น้องๆ นำกลับไปปลูกต่อที่บ้านหรือโรงเรียน
-ห้องกิจกรรม Chromatography ในกิจกรรมนี้ จะใช้กระดาษเป็นตัวดูดซับ และน้ำเป็นตัวทำละลาย และสารที่ใช้แยกคือ สีจากปากกาเมจิกที่ ละลายน้ำได้ ซึ่งในปากกาเมจิกแต่ละสี จะมาจากการผสมสีมากกว่า 1 สีเข้าด้วยกัน และสีเหล่านี้จะแยกออกจากกัน โดยคุณสมบัติการละลาย (ความมีขั้ว) ในตัวกลางที่เป็นน้ำที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดลวดลายขึ้นบนกระดาษที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่สีที่ใช้ และตำแหน่งที่เริ่มระบายสีลงไป
-ห้องกิจกรรม Cheese café เนยแข็งหรือชีส เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโปรตีนในน้ำนม โดยโปรตีนเคซีนในน้ำนมสามารถแยกออกจากน้ำนมได้ด้วยการตกตะกอนซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการผลิตเนยแข็ง (cheese) เมื่อแยกเอาตะกอนเคซีนออกแล้ว ส่วนที่เหลือของน้ำนมเรียกว่า เวย์ (whey)