ผศ.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร และหัวหน้าโครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แหล่งท่องเที่ยวนิเวศ และเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ กล่าวว่า “ตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ.๒๕๕๘ -๒๕๖๐ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา ๓ ยุทธศาสตร์ คือ การส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว การบริหารจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ๑ คือจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตากและเพชรบูรณ์ มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญหลากหลายทั้งทางนิเวศ เช่น อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง อุทยานแห่งชาติเขาค้อ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พระราชวังจันทน์
ทั้งหมดล้วนเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและมีศักยภาพในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี ส่วนด้านกายภาพของภูมิภาคก็สามารถเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยสะดวก เป็นพื้นที่ผสมผสานทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชกรรมและการบริการอย่างครบถ้วน จุดเด่นของภูมิภาคดังกล่าวทำให้มีโอกาสในการพัฒนาและสร้างสรรค์เศรษฐกิจได้กว้างไกลหลากหลายเช่น การเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวด้วยความหลากหลายของทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่าง ๆ”
งานนิทรรศการการท่องเที่ยวและนำเสนอผลิตภัณฑ์ ๔ ภาคของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ จะจัดเวียนไปตามภาคต่าง ๆ โดยมี theme งานหลักคือ “๕ จังหวัดสักครั้งในชีวิต” โดยจะนำเสนอศักยภาพและจุดเด่นการท่องเที่ยวทางนิเวศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตากและเพชรบูรณ์ในรูปแบบนิทรรศการ เช่น ผ้าทอดอนฝ้าย อุตรดิตถ์ ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าบ้านโนนผักเน่า เพชรบูรณ์ เซรามิคบางแก้ว พิษณุโลก ผ้าทอ สุโขทัย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ เช่น การเจรจาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ การแสดงภาพถ่ายประกวดท่องเที่ยวเชื่อมโยง ๕ จังหวัด พื้นที่แสดงภาพถ่าย จุดถ่ายภาพ highlight ของ ๕ จังหวัด การแสดงพื้นถิ่นที่ตื่นตาตื่นใจเน้นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดที่หาดูได้ยาก เช่น การรำมังคละ การแสดงกลองมังคละ การแสดงรำโจ๋ง โดยงานนิทรรศการฯ จะจัดเวียนไปตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยเริ่มที่ภาคตะวันออก ต่อด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๑ ไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย และเป็นการกระตุ้นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่แตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วประเทศไทย สอดคล้องกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศ