โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมเปิดบริการ“อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” เป็นอาคารรักษาพยาบาลรวมอาคารใหม่ขนาด 29 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 224,752.25 ตารางเมตร นับเป็นอาคารโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และศูนย์ความเป็นเลิศ ทางการแพทย์ (Excellence Center) ที่มีความเพียบพร้อมด้วยบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากลที่ทันสมัย และครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ด้วยการบริการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ดียิ่งขึ้น ในระดับพรีเมี่ยมแก่ประชาชนทุกระดับในราคามิตรภาพที่คนไทยสามารถจ่ายได้ และคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยในได้กว่า 1,200 เตียง ซึ่งถือเป็น “มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต” ที่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมอบให้กับประชาชนคนไทยทุกชนชั้น
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาทางกายภาพของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในด้านความไม่เป็นหมวดหมู่และปัญหาอาคารรักษาพยาบาลที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ทำให้ไม่สามารถให้บริการ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ห้องพักสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้รับบริการ รวมทั้งข้อจำกัดในการรองรับผู้ป่วยสาธารณภัยพิบัติ อุบัติภัยต่างๆ (Mass Casualty) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้สร้างอาคาร ที่มีขนาดใหญ่สองหลังเชื่อมต่อกันซึ่งเป็นอาคารรักษาพยาบาลรวม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ให้ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ซึ่งมีความหมายว่า “อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์”
จากต้นปี 2559 ซึ่งเปิดให้บริการเพียง ชั้น 19 หอผู้ป่วยสามัญ ชั้น 28 ห้องพิเศษเดี่ยว ชั้น 7 หน่วยเอ็กซเรย์ หลอดเลือดรังสีร่วมรักษา, ชั้น 2 ศูนย์การวินิจฉัยด้วยภาพ (Imaging center) MRI-เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จากวันนั้นถึงวันนี้ อาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ได้เปิดให้บริการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้ว 6 ศูนย์ ซึ่งได้แก่ 1) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร 2) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร 3) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต 4) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคลมชักครบวงจร 5) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ และ 6) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัดและจะเริ่มทยอยเปิดบริการด้านอื่นๆ ในลำดับต่อๆไป ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เปิดให้บริการแล้วรวมทั้งหมด 21 ศูนย์
นอกจากนี้อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ยังรวมบริการต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ตามอาคารต่างๆ มาไว้ในอาคารเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปหลายอาคารเหมือนเมื่อก่อน เช่น การย้ายผู้ป่วยที่กระจัดกระจายตามตึกต่างๆ เข้ามาพักที่หอผู้ป่วยในอาคารนี้ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,250 เตียง มีส่วนสนับสนุนการให้บริการผู้ป่วยใน (In patient) แบบครบวงจร (One-Stop Service) ตั้งแต่ ชั้น 5-28 มีห้องผ่าตัดรวม 62 ห้อง สำหรับทุกสาขาวิชา, ชั้น 2 ห้องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) ห้องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) รวมถึงการปรับห้องผ่าตัดระบบประสาทสมองให้มีเครื่องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กพร้อมขณะผ่าตัด เพื่อตรวจดูรอยโรคที่อยู่ในเนื้อสมองว่าผ่าออกได้หมดและไม่มากเกินไปห้องผ่าตัด Integrated ที่มีอุปกรณ์ควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ ในห้องสามารถถ่ายทอดและสอนไปยังห้องประชุมในโรงพยาบาลและต่างประเทศได้ ห้องผ่าตัด Hybrid ที่สามารถผ่าตัดหลอดเลือดใหญ่หรือผ่าตัดสอดสายเพื่อการรักษา (Intervention surgery) ห้องผ่าตัด Robotic เป็นการผ่าตัดที่ใช้แขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทำให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำและสงวนเนื้อเยื่อที่ไม่จำเป็นต้องตัดหรือตัดแล้วเกิดผลเสียกับผู้ป่วย
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จะเป็นมิติใหม่แห่งการให้ เพื่อทุกชีวิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ดี มีคุณภาพให้กับประชาชนในทุกชนชั้น แต่ไม่ได้หมายความเพียงแค่การเข้าถึงบริการ ด้านความเป็นเลิศทางการแพทย์เท่านั้น ในความเป็นมิติใหม่ของการให้เพื่อทุกชีวิต ยังหมายรวมถึงการให้บริการในด้านต่างๆ ของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย 1) มิติใหม่ของการเข้าถึงความเป็นเลิศทางการแพทย์ 2) มิติใหม่ของการจัดการด้านการบริการ 3) มิติใหม่ของการจัดการด้านกายภาพ 4) มิติใหม่ของการพยาบาลผู้ป่วยหมายถึงการทำงานร่วมกันของทุกส่วนงาน เพื่อการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และมีการดูแลแบบองค์รวม รพ.จุฬาฯ มุ่งหวังที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ ด้วยวิสัยทัศน์จุดเปลี่ยนแห่งมิตรภาพ การบริการสุขภาพ ของคนไทยทุกชนชั้นสู่มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนสัมผัสได้ด้วยหัวใจกาชาด ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าว