กสทช.จับมือ สวทช.เผยมูลค่าตลาดสื่อสารปี 59 ชี้ปี60ตลาดสื่อสารยังแรง คาดโต 9.5%



คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย “ผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารประจำปี 2559 และประมาณการปี 2560” ชี้ตลาดสื่อสารยังแรงไม่ตก ปี 60 มีมูลค่าทะลุเกิน 6 แสนล้านบาท เติบโต 9.5% จากการใช้จ่ายในกลุ่มอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และบริการที่ไม่ใช่เสียง (Nonvoice) ขณะที่บริการเสียง (Voice) ทุกประเภทหดตัวต่อเนื่อง จากความนิยมใช้บริการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยปัจจัยแข่งขันด้านราคา ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของตลาด

นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารในครั้งนี้ สวทช. ได้รับการสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สำนักงาน กสทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT) และสมาคมเคเบิลลิ่งไทย (TCA) โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2560 เน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ประกอบการรายสำคัญในอุตสาหกรรม แล้วนำมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลทุติยภูมิอื่นๆ รวมถึงการจัดประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าผลสำรวจจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและภาครัฐ สำหรับใช้ในการวางแผนและนโยบายภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงานต่อไป

นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ ที่ปรึกษาโครงการสำรวจตลาดสื่อสารฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดสื่อสารปี 2559 เติบโต 7.7% โดยมีมูลค่า 577,329 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2560 นี้ยังเติบโตได้ต่อเนื่องอีก 9.5% โดยมีมูลค่า 632,120 ล้านบาท จากการใช้จ่ายด้านโมบายที่สูงขึ้น การพัฒนาระบบเครือข่ายขององค์กรเพื่อการยกระดับเป็นองค์กรดิจิทัล ขณะที่การเติบโตของการลงทุนด้านอุปกรณ์สื่อสารไร้สายจะชะลอลงในปี 2560 เนื่องจากการคลายตัวจากภาวะการเร่งลงทุนด้านโครงข่าย 4G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ ตลาดสื่อสารจะไม่เติบโตแบบหวือหวามากนัก เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันทางด้านราคาและการเข้าสู่ตลาดของอุปกรณ์ราคาถูก โดยคาดว่า ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมจะเน้นความหลากหลายของบริการมากขึ้น หรือมีบริการมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นจุดขายและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า

          หากจำแนกเป็นรายตลาดย่อยพบว่า ตลาดบริการสื่อสารยังคงมีมูลค่าสูงกว่าตลาดอุปกรณ์ โดยในปี 2559 ตลาดบริการสื่อสารมีมูลค่า 330,815 ล้านบาท เติบโต 6.9% และคาดว่าใน 2560 จะเติบโตอีกถึง 12.2% โดยมีมูลค่า 371,011 ล้านบาท การเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทบริการที่ไม่ใช่เสียง (Mobile Nonvoice) ในปี 2559 มีมูลค่า 145,667 ล้านบาท โดยเติบโต 35.5% และคาดว่าจะเติบโตอีก 35.2% หรือมีมูลค่า 196,942 ล้านบาท จากพฤติกรรมผู้ใช้งานนิยมการสื่อสารผ่านบริการ OTT และ Social Media รวมไปถึงพฤติกรรมรับชม Content บนโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการใช้งานที่ไม่ใช่เสียงให้เติบโต ขณะที่บริการอินเทอร์เน็ต และบริการสื่อสารข้อมูลแม้จะมีการเติบโต แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยบริการอินเทอร์เน็ตปี 2559 มีมูลค่า 55,740 ล้านบาท เติบโต 4.0% และคาดว่าในปี 2560 จะเติบโต 3.5% โดยมีมูลค่า 57,691 ล้านบาท สำหรับตลาดบริการสื่อสารข้อมูลสำหรับองค์กรปี 2559 มีมูลค่า 14,546 ล้านบาท เติบโต 1.7% และคาดว่าปี 2560 จะเติบโต 2.6% หรือมีมูลค่า 14,924 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตในระดับต่ำของทั้งบริการอินเทอร์เน็ตและบริการสื่อสารข้อมูลเป็นผลจากการการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้การสร้างรายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตและบริการสื่อสารข้อมูลลดลง โดยที่ผู้ให้บริการต่างมุ่งหารายได้จากบริการเสริมที่พ่วงมากับการให้บริการทั้ง 2 ประเภททดแทน

ด้านตลาดบริการประเภทเสียงมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ตลาดบริการโทรศัพท์ประจำที่ติดลบ 18.9% หรือมีมูลค่า 12,006 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2560 จะติดลบ 14.5% หรือมีมูลค่า 10,265 ล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนประเภทเสียง (Voice) ที่มีมูลค่า 95,897 ล้านบาท คาดว่าในปี 2559 จะลดลงเหลือ 86,020 ล้านบาท เป็นการติดลบ 10.3% โทรศัพท์ระหว่างประเทศในปี 2559 มีมูลค่า 6,960 ล้านบาท ซึ่งติดลบ 32.8% และคาดว่าในปี 2560 ตลาดจะยังคงหดตัวลงติดลบ 25.7% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้บริการสื่อสารผ่าน OTT และ Social Media ทดแทน

สำหรับตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2559 ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G ความต้องการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงขึ้นและมีการปรับเปลี่ยนเครื่องของผู้ใช้ระดับบน การเปลี่ยนเทคโนโลยีเชื่อมต่อจาก DSL เป็น FTTx ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม การพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายขององค์กร และความต้องการขยายสัญญาณและจุดเชื่อมต่อสัญญาณในยุคที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แรงหนุนจากการลงทุนด้านโครงข่าย 4G จะเริ่มคลายตัวลงในปี 2560 ภายหลังจากที่มีการเร่งลงทุนในช่วงก่อนหน้า

โดยภาพรวมตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2559 มีมูลค่า 246,513 ล้านบาท เป็นการเติบโต 8.8% แต่คาดว่า ปี 2560 จะมีการเติบโต 5.9% หรือมีมูลค่า 261,109 ล้านบาท เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนขยายโครงข่าย 4G คลายตัวลง เห็นได้จากการเติบโตแบบชะลอตัวลงของตลาดอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย จากเดิมขยายตัว 25.9% หรือมีมูลค่า 45,086 ล้านบาท ในปี 2559 คาดว่าจะมีการเติบโตลดลงเหลือ 5.5% หรือมีมูลค่า 47,565 ล้านบาทในปี 2560 ขณะที่ตลาดเครื่องโทรศัพท์มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดอุปกรณ์สื่อสาร โดยเฉพาะเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมูลค่าตลาด 110,259 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 6.3% ในปี 2559 และคาดว่าจะเติบโตอีก 7.8% ในปี 2560 หรือมีมูลค่า 118,812 ล้านบาท จากแรงหนุนของความต้องการสมาร์ทโฟนระดับบน

                นอกจากนี้ ตลาดอุปกรณ์โครงข่ายหลักเป็นอีกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตได้ จากในปี 2559 มีการเติบโต 5.2% หรือมีมูลค่า 73,284 ล้านบาท คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีก 3.0% หรือมีมูลค่า 75,459 ล้านบาทในปี 2560 ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนพัฒนาเครือข่ายหลักขององค์กรเพื่อรองรับการเป็นองค์กรดิจิทัล และการลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพโครงข่ายและการขยายบริการ FTTx ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยการเข้าสู่ตลาดของอุปกรณ์ราคาถูก เป็นแรงกดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโครงข่ายหลักลดลงโดยเฉพาะกลุ่มสายสัญญาณสื่อสาร จึงทำให้ตลาดอุปกรณ์โครงข่ายหลักมีการเติบโตไม่สูงมากนัก

ขณะที่ตลาดเครื่องโทรศัพท์ประจำที่ ที่ผ่านมามีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 หดตัวติดลบ 11.1% มีมูลค่า 1,151 ล้านบาท แต่คาดว่าในปี 2560 จะสามารถพลิกกลับมาเติบโตบวกได้เล็กน้อยที่ 0.6% หรือมีมูลค่า 1,157 ล้านบาท เนื่องจากโทรศัพท์ประจำที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้องค์กร และการปรับเปลี่ยนการใช้งานโทรศัพท์ประจำที่ให้เป็นแบบ IP Phone ซึ่งสอดคล้องกับตลาดอุปกรณ์สื่อสารใช้สายในกลุ่ม PBX ที่แม้ภาพรวมจะหดตัวลง แต่ยังมีการเติบโตได้ในกลุ่มอุปกรณ์ IP PBX

ด้านกลุ่มผู้ใช้งานหลักในตลาดสื่อสาร พบว่า ภาคครัวเรือนยังคงเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในตลาดสื่อสารในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ใช้ภาคธุรกิจเอกชนและรัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในกลุ่มผู้ใช้ครัวเรือนระดับบนที่มีวิถีชีวิตแบบดิจิทัลที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนที่แม้ว่าจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน จึงต้องใช้เวลาในการตัดสินใจลงทุน หรือต่อรองค่าบริการที่ใช้อยู่กับผู้ให้บริการ

นายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญต่อตลาดสื่อสาร คือการมุ่งตอบโจทย์การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) และความเป็นอัจฉริยะ (Smart Everything) ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอและรับชม Streaming Content การเติบโตของธุรกิจ Cloud และ Data Center รวมไปถึงเทคโนโลยี IoT ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ และเมื่อการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตที่ผูกติดกับดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต กระบวนการปฏิบัติงาน และรวมถึงการนำเสนอและนำส่งบริการแก่ลูกค้าผ่านเครือข่ายดิจิทัล เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลิตภาพ ตลอดจนสร้างความสะดวกสบายและความพึงพอใจแก่ลูกค้า