มะเร็งท่อน้ำดีภัยเงียบที่น่ากลัว สถิติพบผู้ป่วย 14,000 คน ต่อปี



       จากสถิติพบว่า ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและติดอันดับสูงที่สุดในโลก โดยปัจจุบันปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย ได้รับการวินิจฉัยในระยะสุดท้ายส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากภายในงาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 –22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ กระทรวงศึกษาธิการ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้รวบรวมนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษาทุกระดับมาจัดแสดงผลงาน ในการนี้ *โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ* โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้นำเสนอผลงานการวิจัยและพัฒนาในหลายด้านรวมถึงโครงการวิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานเป็นอย่างยิ่ง
      โครงการวิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ และ รศ.สพ.ญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ  เป็นโครงการระยะยาวซึ่งได้ทำการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีเนื่องจากปัญหาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสาธารณะสุขที่สำคัญและเรื้อรังมาช้านานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโรคดังกล่าวเกิดจากการขาดความรู้พื้นฐานของการเกิดโรคและธรรมชาติของมะเร็งท่อน้ำดีอย่างถ่องแท้อีกทั้งขาดวิทยาการด้านการรักษาและติดตามผลอย่างเป็นระบบตลอดจนขาดการรณรงค์และป้องกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งที่จริงแล้วมะเร็งท่อน้ำดีสามารถรักษาหายและป้องกันได้
      จากการศึกษาวิจัยพบว่าโรคมะเร็งท่อน้ำดี มีสาเหตุสัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ตับสืบเนื่องมาจากการบริโภคอาหารประเภทปลาน้ำจืดดิบ อาทิ ก้อยปลาปลาส้มและปลาร้าที่หมักไม่นาน โดยปลาเหล่านี้จะมีระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับปะปนอยู่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ตัวอ่อนของพยาธิ จะเคลื่อนที่จากลำไส้เข้าไปฝังตัว และเจริญเติบโตในท่อน้ำดีและออกไข่ปะปนมากับอุจาระลงสู่แหล่งน้ำ เมื่อไข่ถูกหอยไชกินจะพัฒนาและเพิ่มจำนวนเป็นตัวอ่อน เข้าสู่ปลาที่กินหอยเป็นอาหารและพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ และเข้าสู่คนจากการบริโภคปลาดิบโดยวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ตับใช้เวลาสะสมและหมุนเวียนวงจรมาหลายทศวรรษ ตัวอ่อนของพยาธิเติบโตอาศัยอยู่ภายในท่อน้ำดีซึ่งมีทั้งบริเวณในตับ และนอกตับเมื่อร่างกายพบสิ่งปกติจะเกิดกระบวนการขับออกซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบในระดับเซล และหากเกิดการติดพยาธิใบไม้ตับซ้ำซากหรือมีจำนวนพยาธิมากการอักเสบเหล่านั้นจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมจนกลายเป็นเซลมะเร็ง ส่วนใหญ่มักจะไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ในระยะนี้แต่เมื่อเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง จึงเริ่มนำส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นมะเร็งระยะลุกลามมากแล้วไม่สามารถผ่าตัดได้หลังเข้ารับการวินิจฉัย หลังจากนั้นผู้ป่วยจึงมักเสียชีวิตลงภายในเวลาไม่นาน จนกระทั่งเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่า “ผ่าก็ตาย ไม่ผ่าก็ตาย”
      ปัจจุบันพบประชาชนที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งท่อน้ำดีจากโรคพยาธิใบไม้ตับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 6,000,000 คน และมีผู้ป่วยโรคเป็นมะเร็งท่อน้ำดีประมาณ 14,000 คน ต่อปี โดยส่วนใหญ่ มีฐานะยากจนและไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะสุขพื้นฐานได้ ดังนั้นการให้ความรู้เพื่อป้องกันและตัดวงจรของโรคพยาธิใบไม้ตับจึงจำเป็นอย่างยิ่งโครงการวิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งได้รับทุนจากโครงการมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำองค์ความรู้จากการวิจัย ไปสู่การบริการสังคมจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำโดยแบ่งเป็นการบริการสังคม ซึ่งได้มีการจัดตั้ง CASCAP หรือโครงการบริการคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสานซึ่งรับลงทะเบียนประชากรกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 80,000 คน มีการตรวจคัดกรองกว่า 40,000 คน และพบผู้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งอีกกว่า 500 คน โดยโรคมะเร็งท่อน้ำดีหากพบเร็วก็จะสามารถทำการผ่าตัดรักษาให้หายได้, มีการดำเนินการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน สร้างความตระหนักและตื่นตัวให้มีการรณรงค์หยุดกินปลาดิบ นอกจากนี้ทุนในโครงการดังกล่าวสามารถผลิตนักวิจัยที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต
     การวิจัยดังกล่าว ในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติสามารถสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลกระทบให้แก่ประชาชนในด้านสุขภาพเป็นวงกว้างสร้างโอกาสการได้รับบริการด้านสาธารณสุข และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย