มธ.ผนึกกลุ่มประเทศอาเซียน จัดกิจกรรมฉลอง 50 ปี จับตาปรากฎการณ์อาเซียน4.0



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน “TU ASEAN Expo 2017” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาเซียน เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านอาเซียน 4.0 จับตาบทบาทอนาคตของไทยในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนและเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ของผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนและมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียนมาโดยตลอด อนาคตคาดไทยจะทำการค้ากับอาเซียน  จัดขึ้นในวันที่ 23-24 มีนาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  กรุงเทพฯ โดยมี ฯพณฯ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิด

      รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ของผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน และมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียนมาโดยตลอดเป็นผู้เสนอการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) ทำให้ไทยค้าขายกับอาเซียนได้จำนวนมากและกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25% จากการค้าขายกับทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30-40%ไทยยังเป็นผู้ผลักดันสำคัญให้ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งปัจจุบัน 4 ประเทศกลุ่ม CLMV มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไทย โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุนทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ไทยให้ความร่วมมืออย่างมากกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม อันจะเห็นได้จากความตื่นตัวและการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน

      อนาคตประเทศไทยจะต้องมีทักษะ ยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อสามารถอยู่ในประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืนในฐานะผู้มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนในอนาคต ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์อาเซียนศึกษา จึงได้จัดงาน “TU ASEAN Expo 2017” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาเซียนขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนไปสู่สาธารณชน

      ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความร่วมมือกันระหว่าง 10 ประเทศสมาชิก เพื่อที่จะเปลี่ยนจากอาเซียน 3.0 ไปสู่อาเซียน 4.0 โดยมีแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 หรือ AEC Blueprint 2025 ที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านการเกษตร สุขภาพ ดิจิทัล ภาคบริการ การพัฒนา SME และแรงงาน เน้นปัจจัย R&D วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนอาเซียนไปข้างหน้า ดังนั้นภาคการศึกษาจึงควรมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักรู้ และความเข้าใจอาเซียนในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมืออาเซียน อันจะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืนคู่ขนานกันระหว่าง “ประเทศไทย 4.0” กับ “อาเซียน 4.0”

      อย่างไรก็ตาม มธ.ยังคงเดินหน้าสานต่อพันธกิจในด้านความเป็นนานาชาติ ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมทางวิชาการกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก อาทิ การทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 300 แห่ง จาก 40 ประเทศทั่วโลกทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ครอบคลุมทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน โดยมีขอบเขตความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (Student exchange) การแลกเปลี่ยนอาจารย์ (Faculty exchange) การทำวิจัยร่วม (Research collaboration) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ (Knowledge exchange) โดยในปี 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษาต่างชาติทั้งเต็มหลักสูตรและแลกเปลี่ยนจำนวน รวมกว่า 1,400 คน และอาจารย์ต่างชาติมากถึง 200 คน จากความมุ่งมั่นดังกล่าว ส่งผลให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับคะแนนจากการประเมินโดยสถาบันจัดอันดับและประเมินมาตรฐานด้านการศึกษาระดับโลก (Quacquarelli Symonds: QS) ในด้านนานาชาติ ในระดับ 5 ดาว อันสะท้อนให้เห็นว่า มธ.เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

      นางฉมาพรรณ รังคะรัตน  ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) องค์กรสนับสนุนหลักในการจัดงานครั้งนี้ เผยว่า ไทยเบฟฯตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและในภูมิภาคเพื่อให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำงานร่วมกันกับชาติอาเซียนจะนำไปสู่การเชื่อมโยงของสังคมและการทำกิจกรรมต่าง ๆ
    ไทยเบฟฯนอกจากทำธุรกิจแล้วยังมีกิจกรรมด้านสังคม วัฒนธรรม ชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดยช่วงปลายปี 2559 ได้เปิดตัวโครงการ EISA (Education Institute Support Activity)  เพื่อสนับสนุนพัฒนาการด้านการศึกษา โดยให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในพันธมิตร ส่วนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ร่วมมือกันด้วย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป
ไทยเบฟฯมีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นการสนับสนุนอาเซียนด้วย โดยได้จัดตั้งศูนย์ C asean ขึ้นในปี 2556 ให้เป็นพื้นที่สนับสนุนการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งขึ้น มีรูปแบบการดำเนินกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยไม่ได้มุ่งหวังในการสร้างผลกำไร แต่มุ่งเน้นสร้างฐานองค์ความรู้ในอาเซียนด้านธุรกิจรุ่นใหม่ ศิลปะ และวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายและกิจกรรมให้กับคนรุ่นใหม่ในอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้เป็นพลเมืองอาเซียนที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ C asean ประกอบด้วย

Knowledge Center แหล่งรวมองค์ความรู้และการวิเคราะห์ ข้อมูลทั้งด้านธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม

“Dream office” (Co-working Space) พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พร้อมห้องประชุมและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

C asean Academy แหล่งศึกษาที่ฉีกกรอบจากรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนา ศักยภาพและเสริมทักษะที่จำเป็นต่อความต้องการ
ในศตวรรษที่ 21

C asean Forum พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหลากหลายกลุ่มคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนภูมิภาคต่อไปในอนาคต