“ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข”กระตุ้นคนไทยเตรียมสุขก่อนสูงวัย



มร.เซลิม  เซสกิน ประธานกรรมการมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย และ บริษัท   ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการดำเนินภารกิจที่ต่างกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน (2 Missions : 1 Goal) คือการมุ่งที่จะมอบ “คุณภาพชีวิตที่ดี” สำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ตั้งแต่ในระดับโลก อาทิ การดำเนินโครงการเก็ท โอลด์ (Get Old) ของบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ (Good Health and Well-Being) ด้วยการการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับองค์กรต่างๆ ระดับโลกระหว่างการประชุม World Economic Forum ณ กรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์    เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู่กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) ซึ่งเป็นภัยคุกคามของสังคมผู้สูงวัย โดยจะร่วมกันลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ให้ได้ในอัตรา 1 ใน 3 ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573)

“สำหรับในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรกลุ่มสูงวัยคิดเป็นร้อยละ14.9 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ก่อให้เกิดเป็น “สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์” (Aged Society) เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการเกิดลดลง ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางสาธารณสุขทำให้ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่อายุที่ยืนยาวขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้สูงวัยจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นตามไปด้วย หากไม่ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อนที่จะเป็นผู้สูงวัย ซึ่งภัยคุกคามด้านสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงวัยไทย คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) หรือ NCDs อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง โดยโรคเหล่านี้ ปัจจุบันกำลังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประชากรไทย ซึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตและการไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงก่อนก้าวสู่วัยสูงอายุ ซึ่งภัยคุกคามด้านสุขภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบในหลายมิติ ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศ เห็นได้จากรายงาน The World in 2050 : The Long View: How will the global economic order change by 2050? โดย บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ซึ่งระบุว่า ในอีก 34 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2593 / ค.ศ. 2050) ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทย เนื่องจากไทยจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน อัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต และเป็นสังคมผู้สูงวัย

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “โครงการนี้ถูกออกแบบให้เป็น Knowledge-based project โดยมีการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายก่อนลงมือเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (สิงหาคม 2559 - สิงหาคม 2562) พื้นที่การดำเนินงานได้แก่ กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตยและบางขุนเทียน) ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการแล้ว และจะเริ่มขยายขอบเขตการดำเนินโครงการไปยังจังหวัดอุบลราชธานี (อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ) ในช่วงสิงหาคมปีนี้ สาระสำคัญที่นำมาเป็นหัวใจของการดำเนินโครงการนี้มี 5 ประการ คือ มุ่งเตรียมความพร้อมในกลุ่มคนวัยก่อนเกษียณ โดยจะมีการสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชากรก่อนวัยสูงอายุ (45-59 ปี) เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มเป้าหมายรอง นับเป็นการขยายขอบเขตการทำงานที่พัฒนาไปสู่กลุ่มผู้รับผลประโยชน์ใหม่ คือ วัยก่อนสูงวัย ผู้สูงวัย และผู้ทำงานด้านสูงวัย  เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior) ด้วยการให้ความรู้ด้านสุขภาพ สร้างพันธมิตร ด้วยการเชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม หรือ Public-Private Partnership ดังเช่นการสนับสนุนจากมูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โครงการบรรลุเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขและโรงเรียน สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ และพัฒนาแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

ภ.ญ.ศิริวรรณ  ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า “มูลนิธิฯ และสถาบัน
คีนันฯ ตั้งใจให้โครงการนี้เป็นการทำงานบนฐานความรู้ สู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย ซึ่งแม้ว่าจะมีมาตรการกลไกของภาครัฐที่กำกับดูแลอยู่โดยตรง แต่ความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น โดยมูลนิธิฯ จะมีการทำงานอย่างสอดประสานไปกับภาครัฐ และทุกภาคส่วนในสังคม  บูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรระหว่างกัน เกื้อหนุนส่งเสริมเพิ่มศักยภาพซึ่งกันและกัน ในการขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยไปพร้อมๆ กัน”

“มูลนิธิฯ คาดหวังว่าโครงการนี้ จะมีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมสู่คุณภาพชีวิตผู้สูงวัย สร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ และจะสามารถสร้างต้นแบบของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างแต่ละภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพ  เป็นไปได้  และเหมาะกับบริบทของไทย  สามารถนำไปขยายผลได้ไม่รู้จบ เพื่อนำไปสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นอกจากการขยายผลในประเทศไทยแล้ว ด้วยเหตุที่บริบทของสังคมไทยมีความคล้ายคลึงกับอีกหลายประเทศในอาเซียน เราจึงคาดหวังด้วยว่าต้นแบบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ จะสามารถปรับใช้ขยายผลได้ในประเทศอาเซียนอื่นๆ และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างสังคมผู้สูงวัยของไทยที่มีคุณภาพแล้ว จะยังมีส่วนเสริมภาครัฐ ในการดำรงความเป็นผู้นำในอาเซียนในอนาคตข้างหน้า”