สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมวันไตโลก (World Kidney Day) และจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2560 ภายใต้คำขวัญ “อ้วนกลมระทมไต” เพื่อกระตุ้นและเชิญชวนให้คนไทยรักสุขภาพ มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของตนเอง และห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุง
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโรคไตในปัจจุบัน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปัจจุบันพบว่าเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปและมีภาวะเสี่ยง “อ้วนลงพุง” เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดอื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น จึงทำให้เกิดการรณรงค์วันไตโลกและสัปดาห์วันไตโลกในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆและหาวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสม จึงได้จัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2560 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “อ้วนกลมระทมไต” เพื่อกระตุ้นและเชิญชวนให้คนไทยรักสุขภาพ มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของตนเอง และห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุง ภายในงานมีการเสวนาเรื่องโรคไต กับแพทย์โรคไต การเสวนาเรื่องแรงบันดาลใจในการหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเป็นอย่างมากจนสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้อย่างชัดเจนและการแสดงบนเวที โดยคุณแมน การิน ศตายุส์ “7 วันฟิตแอนเฟิร์ม” และจ๋า ยศสินี ณ นคร มาแนะนำ 7 วัน 7 เมนูสุขภาพดี๊ดี มันดีต่อไต และจะมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของคุณแมน การิน และคุณจ๋า ยลศนี อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากกลุ่มศิลปิน นักแสดง ดาราต่าง ๆ มากมาย อาทิ เจมส์ อัศรัสกร (เจมส์ มาร์) และ ชีรณัฐ ยูสานนท์ (น้ำชา) มาร่วมในงานครั้งนี้อีกทั้งภายในงานยังมีการจำหน่ายเสื้อยืดวันไตโลก 2560 ในราคาตัวละ 300 บาท รายได้ส่วนหนึ่งมอบให้สมาคมโรคไตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต ซึ่งประชาชนสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยจะต้องลดอาหารเค็ม เพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (องค์การอนามัยโรคแนะนำบริโภคเกลือ 5 กรัม หรือโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน)การรับประทานอาหารรสเค็มจัด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไต นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับชาติ ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ป่วย ที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็ก เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง จนเป็นสาเหตุในเรื่องของภาวะ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นภัยเงียบรสเค็ม ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อยๆ เสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด
สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต ควรปฏิบัติดังนี้ 1.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2. ควบคุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130 /80 และระดับน้ำตาลในเลือด 3.ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกิน วันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา 4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 4.เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา และ 5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ