“นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน”ชูผลงานวิจัยใช้ได้จริง



กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช.ภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัด “งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ สวทช.ภาคเหนือ ประจำปี 2560” โดยมี นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดงาน ภายใต้ชื่องาน “นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช.ภาคเหนือ และพันธมิตร การบรรยายพิเศษ การเสวนา เพื่อถ่ายทอดแนวคิดประสบการณ์การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนาประจำปี 2560 เพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบผู้นำที่มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปคิดค้นหรือต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งดำเนินนโยบายตอบโจทย์ “ประเทศไทย 4.0” อย่างต่อเนื่องในการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดนำ วทน. มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เกิดเศรษฐกิจนวัตกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ทุกภาคส่วนคือ หัวใจสำคัญที่ต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาผลงานวิจัยและถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนท้องถิ่น

ในปีที่ผ่านมา สวทช. ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ได้แก่ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ซึ่งมี สวทช.ภาคเหนือ เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของ สท. มุ่งมั่นทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชุมชน รวมทั้งให้บริการกลไกการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สร้างความมั่นคงมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน

“ผลงานของ สวทช.ภาคเหนือ ในปีที่ผ่านมา มีการสนับสนุนทุนวิจัยรวมถึงเชื่อมโยงทุนวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่น จำนวน 7 โครงการ การนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิต ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม และภาคสังคมและชุมชน จำนวน 44 ชุดโครงการ ให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) จำนวน 59 โครงการ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 2 ค่าย และเกิดมูลค่าการลงทุนรวมถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมทั้งในภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรมกว่า 93 ล้านบาท จากการเก็บข้อมูล 123 โครงการในปีที่ผ่านมา”

สำหรับการจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการประจำปี 2560 ภายใต้ชื่องาน “นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย การมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนา เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดี เป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคคลต้นแบบที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเป็นเครื่องมือในการคิดค้นหรือต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การเสวนาและบรรยาย ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ เกษตรกรและอดีตผู้ว่าราชการ 3 จังหวัด (พิจิตร ภูเก็ต และพิษณุโลก) ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพของบุคคลที่ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้าง ว่าเป็นแบบอย่างอันดีของการดำรงตนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหัวข้อ “ชีวิตที่มั่นคง บนพื้นฐานของความพอเพียง” นับเป็นบริบทที่สำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับและพัฒนาอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืน

อีกไฮไลท์หนึ่งของงานที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ โซนนิทรรศการผลงานวิจัยใช้ได้จริง ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อชุมชน: ข้าวปลาอาหาร ผลงานวิจัยใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และผลสำเร็จจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรและอาหาร ที่ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ศูนย์เรียนรู้และขยายผล เช่น การแปรรูปข้าวกล้องไร้มอด การเพาะเลี้ยงปลาพลวง/ปลามอนสำหรับพื้นที่สูง เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกแบบเคลื่อนที่ได้ขนาด 1 ตัน ระบบติดตามคุณภาพน้ำเพื่อการเลี้ยงปลานิล เป็นต้น นวัตกรรมเพื่อชุมชน: วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นผลสำเร็จจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ศูนย์เรียนรู้และขยายผล เช่น หนอนแม่โจ้ (BSF) กำจัดขยะ จุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุ/สารเคมีตกค้าง วัสดุปลูกพืชจากเปลือก/ซังข้าวโพด วัสดุรองนอนเลี้ยงสัตว์ทดลองจากเศษผักตบชวา/เศษไม้ไผ่/เศษต้นกล้วย ไคโตซานจากเปลือกหอยเชอรี่ เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น เช่น ครีมบำรุงผิวจากรังไหม ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขามป้อม เครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์แชลแลคจากครั่ง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากน้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดเมลอน เป็นต้น ตลอดจนตัวอย่างผู้ประกอบการที่ซื้อสิทธิเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยของ สวทช. เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เช่น แผ่นฉนวนกันความร้อนทนไฟจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร