นักวิจัย มหิดล - มจธ. คว้าทุนนักวิจัยแกนนำ ปี 2559 จาก ก.วิทย์ฯ-สวทช.



ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2559 พร้อมลงนามในสัญญามอบทุนกว่า 40 ล้านบาท ให้กับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิจัย ในโครงการการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษามะเร็งด้วยวิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในโครงการเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการค้าและการผลิตอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแสวงหากลไกที่จะเอื้อให้นักวิจัยทำงานวิจัยและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการทุนนักวิจัยแกนนำของ สวทช. เป็นกลไกที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในการให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อให้นักวิจัยที่มีขีดความสามารถสูงทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ การดำเนินการของโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นแนวทางที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดแรงจูงใจและมีผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม และขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารของทั้งสองสถาบัน ตลอดจนผู้รับทุนนักวิจัยแกนนำและคณะเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งขอเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันช่วยสนับสนุน ส่งเสริม กลุ่มนักวิจัยแกนนำนี้ ให้มีความคล่องตัวในการทำงาน เพื่อให้ทีมวิจัยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ ตลอดจนช่วยผลักดันกลุ่มวิจัยที่มีศักยภาพทั้งสองกลุ่มนี้ให้มีโอกาสแสดงผลงานและความสามารถ เพื่อก้าวจากนักวิจัยชั้นนำของประเทศ สู่การเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของโลก พร้อมทั้งช่วยสร้างบุคลากรวิจัยมืออาชีพและผลิตกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ให้กับประเทศต่อไป

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง โครงการทุนวิจัยแกนนำ เป็นโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้นักวิจัยที่มีคุณภาพสูง ได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยหวังว่าจะเกิดผลกระทบระดับสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง และตามที่ สวทช. เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2559 นั้น ทุกข้อเสนอโครงการได้ผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้น โดยมีนักวิจัยแกนนำที่ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำประจำปี 2559 จำนวน 2 ท่าน ได้แก่

ศ.นพ. สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษามะเร็งด้วยวิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกัน” เป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานวิจัยโดดเด่นทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา มีความสนใจการศึกษานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยแนวทางใหม่ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการรักษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ภายใต้โครงการนี้ คณะผู้วิจัยจะพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ความรู้ทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา เพื่อนำไปใช้จริงในทางคลินิกสำหรับรักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงมาตรฐานการรักษาที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับงานวิจัย และมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย ให้มีคุณภาพในระดับสากล รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติด้วยการเปิดรับผู้ป่วยจากต่างประเทศที่จะเข้ามารักษาในประเทศไทยอีกด้วย

ผู้ที่ได้รับทุนอีกท่านหนึ่งคือ ศ.ดร. แชบเบียร์ กีวาลา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากโครงการวิจัย เรื่อง “เครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการค้า และการผลิตอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ และมีผลงานซึ่งได้รับการยอมรับในด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร โครงการที่ได้รับทุนนี้ คณะผู้วิจัยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านอาหารและพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน โดยใช้หลักการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนการผลิตการค้า และการส่งออกของภาคอุตสาหกรรม โดยการสร้างเครือข่ายวิจัยที่บูรณาการความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ในหลากหลายสาขาวิชา รวมถึงผลักดันผลการวิจัยไปสู่นโยบายภาครัฐ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทนได้อย่างแท้จริง

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์  ผลิตผลการพิมพ์ เลขานุการโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ สวทช. กล่าวว่า สำหรับโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ สวทช. ให้การสนับสนุนตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 โครงการ ผลจากการดำเนินงานของแต่ละโครงการมีผลงานที่ดีเยี่ยม สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 43 ต้นแบบ ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 550 เรื่อง สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 30 เรื่อง การผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก รวมมากกว่า 360 คน อีกทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะแล้วเป็นจำนวนมาก

โครงการการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษามะเร็งด้วยวิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกันบำบัด

(Development of innovative therapy for cancer; adoptive immunotherapy)

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การบำบัดด้วยฮอร์โมน การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับชนิด ระยะของโรค การกระจายของโรค รวมไปถึงความแข็งแรงของผู้ป่วย และวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อน อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวยังมีโอกาสทำลายเซลล์ปกติในร่างกายนอกเหนือจากการทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน และอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งสมัยใหม่มุ่งเน้นการค้นหาตัวยาหรือวิธีการรักษาที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งมากขึ้น เพื่อลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในวิธีการรักษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่ วิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยอาศัยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันที่นำมาใช้นั้นเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเองจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย โดยมุ่งความสนใจในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระบบประสาทซิมพาเธติกชนิดนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma) เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด

ผลที่คาดว่าจะได้รับภายใต้โครงการวิจัยทุนแกนนำนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งภายในและนอกประเทศในการศึกษามุ่งเป้าเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ความรู้ทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาซึ่งเป็นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วย และเป็นการพัฒนาบุคลากรของประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการรักษา ตลอดจนความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงมาตรฐานการรักษาที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดในภูมิภาคอาเซียน ทำให้รองรับผู้ป่วยจากนานาประเทศในแถบภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมอีกด้วย

โครงการเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการค้าและการผลิตอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.แชบเบียร์ กีวาลา หัวหน้ากลุ่มวิจัยการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิต บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการการพัฒนาเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคตอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในเชิงมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและมาตรฐานการผลิต ที่ต้องมุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย รวมถึงให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายวิจัยนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการ ของนักวิจัยจำนวน 10 คน จาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เกษตรศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ม.พะเยา และ ม.มหาสารคาม มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านอาหารและพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน และการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โดยใช้หลักการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตที่พิจารณากิจกรรมการผลิตวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสีย ตลอดจนการขนส่งที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน โดยมุ่งเป้าศึกษาผลิตภัณฑ์ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหาร อาหารสัตว์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ”

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ (1) นวัตกรรมหรือเครื่องมือเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายสำหรับการผลิตอาหารและพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนของภาครัฐ (2) การวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการค้าและการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้ประกอบการ (3) มาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มผลผลิต และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) ข้อเสนอแนะรูปแบบการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนานักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเป็นแกนนำในการขยายงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์นโยบายเกษตร อาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ซึ่งเครื่องมือและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่ได้จากโครงการนั้น มีความสำคัญต่อการสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนผ่านการจ้างงาน เพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งสร้างการยอมรับจากสากลถึงมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำของโลกและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ตามเป้าหมายด้าน “มั่นคง”ทางทรัพยากร ธรรมชาติ อาหาร และพลังงาน “มั่งคั่ง” ทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และ “ยั่งยืน” ทางสิ่งแวดล้อมและสังคม