ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังร่วมกับภาครัฐและเอกชนประกาศความสำเร็จ 14 ปี



ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยได้จัดงานแถลงข่าว 14 ปี การเข้าถึงยาอิมมาตินิบและการเพิ่มโอกาสในการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์และมะเร็งทางเดินอาหารจีสต์ เพื่อขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้าถึงยาอิมมาตินิบ ได้แก่ คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Working Group), มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย, หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, และสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (สปส.) และ บริษัทโนวาร์ตีส เอจี จำกัด   การแถลงข่าวดังกล่าว นอกจากเป็นการขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพของผู้ป่วยทุกคนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 14  ปี ยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคแนวทางการรักษา รวมถึงมุมมองของแพทย์และผู้ป่วยต่อการรักษา  สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการรักษาโรคของผู้ป่วยและสร้างเสริมกำลังใจให้กับเพื่อนผู้ป่วยด้วยกัน

               นายจีระพล  ไชยมงคล ประธานชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า จากความร่วมมือเป็นเวลา 14 ปี ทำให้โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ จีแพป (GIPAP) ประสบความสำเร็จสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทยของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์ และมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์อย่างต่อเนื่อง โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือและร่วมมือด้วยดีจากกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบริษัทโนวาร์ตีส เอจี จำกัด ในการจัดสรรยาอิมมาตินิบ มีไซเลตให้แก่ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง และเรื่องน่ายินดีที่เพิ่มขึ้นคือ ในขณะนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์สิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทอง   สามารถเข้าถึงการตรวจติดตามผลการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบ คือ การตรวจวัดระดับยีน BCR-ABL ในขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารจีสต์ในโครงการจีแพปเอง  ก็สามารถได้รับขนาดยาอิมมาตินิบเพิ่มขึ้นมากกว่า 400 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่มีความจำเป็นอีกด้วย

      นายจีระพล  กล่าวว่า รู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จในการร่วมมือกัน จนทำให้ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทยมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงเข้ามาเป็นจิตอาสา  ทำงานเพื่อผู้ป่วยคนอื่นเพิ่มขึ้น  ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ในระยะแรกของการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ จึงทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี   แต่จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้ปัจจุบันโครงการนี้ได้มีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับยาที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพดี และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยาได้  ผู้ป่วยโรคนี้กลายเป็นคนปกติอยู่ในสังคมไทย เหมือนโรคเรื้อรังชนิดอื่น ๆ  เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง สามารถทำให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

  

     ด้าน ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบมัยอีลอยด์ (Chronic Myeloid Leukemia, CML) สามารถเกิดได้ทุกกลุ่มอายุ แต่ในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36-45 ปี และจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อุบัติการณ์ที่รายงานคือประมาณ 0.5 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี โดยจะมีผู้ป่วยในประเทศไทยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค CML ประมาณ 700-1,000 รายต่อปี สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งชนิด CML นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่การฉายรังสีเป็นปัจจัยเดียวที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงขึ้น โดยอาการของผู้ป่วย จะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผอมลง ทานข้าวแล้วแน่นท้อง อีกทั้งมีก้อนในท้อง ซึ่งการเจอก้อนในท้องอาจจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี

         ปัจจุบันมาตรฐานการรักษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแนะนำให้ ยาอิมมาตินิบ 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือยานิโลตินิบ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งยาทั้งสองตัวสามารถให้ผลการตอบสนองที่ดี แต่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและดูแลตนเองตามแพทย์แนะนำจึงจะได้ผลค่อนข้างดี ผู้ป่วยจึงสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวไม่แตกต่างจากโรคเรื้อรังทั่วไปและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป โดยเป้าหมายในการรักษา คือ การลดจำนวนเซลล์มะเร็งในร่างกายให้เหลือน้อยที่สุดอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเข้าสู่ระยะลุกลาม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้ ดังนั้นการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญมาก เพื่อสังเกตว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดีหรือไม่  ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับระยะของโรค โดยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจวัดปริมาณโปรตีนที่ผิดปกติ (BCR-ABL) หรือที่เป็นผลผลิตจากยืนที่ผิดปกติในร่างกายได้ เรียกว่า การตรวจ RQ-PCR (Real-Time Quantitative Polymerase Chain Reaction) ซึ่งตามเกณฑ์ผู้ป่วยทุกคนควรตอบสนองต่อการรักษาจนถึงระดับลึกที่สุด คือ Major Molecular Response (MMR) โดยมีปริมาณ BCR-ABL 0.1 เปอร์เซ็นต์ IS ภายในระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือน หากยังไม่ได้ผลการตอบสนอง ผู้ป่วยก็ควรได้รับการพิจารณาเปลี่ยนยารักษาต่อไป

        ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวต่อว่า ด้วยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทำให้ปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยในสิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทอง สามารถเข้าถึงการตรวจ RQ-PCR ได้แล้ว   จึงอยากกล่าวขอบคุณในนามของแพทย์ ที่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิด CML รวมถึงตัวผู้ป่วยและครอบครัว  ขอบคุณบริษัทโนวาร์ตีส ตั้งแต่การคิดค้นพัฒนายาที่ดี ริเริ่มให้เกิดโครงการจีแพปขึ้นมาในประเทศไทย และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐ ประกันสังคม และ สปสช. สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือในการสานต่อความหวังผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิด CML ให้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

      ผศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ (GIST) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมะเร็งจีสต์เกิดจากเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิด คือเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ เพราะฉะนั้นจึงสามารถพบมะเร็งจีสต์ได้ตามส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหาร โดยตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือกระเพาะอาหาร มะเร็งจีสต์ถือได้ว่าเป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์จำนวน 1,581 ราย และมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

      สำหรับอาการของมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์มีความคล้ายคลึงกับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดอื่น ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายคลำพบก้อนในท้อง ซึ่งหากก้อนมะเร็งจีสต์อยู่ในกระเพาะอาหาร ก็อาจจะทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเลือดจะปนออกมากับอุจจาระทำให้อุจจาระมีสีดำ และหากมีเลือดออกในกระเพาะอาหารมาก ผู้ป่วยก็อาจจะอาเจียนออกมาเป็นเลือดได้  นอกจากนั้นคนไข้ก็มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เนื่องจากมีเลือดออกด้วย ซึ่งอาการของมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ไม่มีข้อเจาะจง แต่ถ้าหากมีอาการที่น่าสงสัยแบบเรื้อรัง และรับการรักษาโรคทั่วไปแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายดูว่ามีก้อนในท้องหรือไม่ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี อาทิ เอ็กซเรย์ดูก้อนในท้องหรือส่องกล้องเข้าไปดูก้อนในกระเพาะอาหาร โดยการส่องกล้องจะตัดชิ้นเนื้อบางส่วนมาตรวจยืนยันว่าเป็นมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์หรือไม่

       ระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ จะมีลักษณะเป็นก้อนอยู่บริเวณเดียว ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดและมีโอกาสที่จะหายขาด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการผ่าตัด คนไข้ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบขึ้นมาได้ ซึ่งแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค แต่ถ้าหากตัวโรคได้แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นแล้ว ก็จะมีโอกาสน้อยในการรักษาให้หายขาด ซึ่งถ้าหากโรคกระจายไปที่ตับก็ต้องรักษาด้วยยา เดิมใช้วิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่เนื่องจากมะเร็งจีสต์เป็นโรคที่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดน้อยมาก ช่วงหลังจึงมีการพัฒนายา Targeted Therapy หรือยาที่รักษาได้โดยตรง คือ ยาอิมมาตินิบ โดยทางการแพทย์พบว่ายากลุ่มนี้สามารถที่จะควบคุมโรคได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

      ด้าน นพ. ชูชัย  ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของการรักษาโรคมะเร็งจะพบว่าสถิติของผู้ป่วยมะเร็งมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 7 ต่อปี อัตราการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น หรือมีประชาชนป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น ซึ่งแต่ละสิทธิ์การรักษาของแต่ละกองทุนจะมีความแตกต่างกัน จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการไม่เหมือนกัน ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงมีแนวทางบูรณาการมะเร็งให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกองทุนสุขภาพ ในส่วนของสปสช. นั้น ก็ได้เห็นชอบในหลักการที่จะบูรณาการระบบบริการสำหรับการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งและการดูแลรักษาโรคมะเร็ง 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ 2.การส่งเสริมป้องกัน 3.การคัดกรองโรคมะเร็ง 4.การจ่ายชดเชยค่าบริการ 5.การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 6.การทำฐานข้อมูลผู้ป่วยมะเร็ง

       สำหรับการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็ง สปสช.ยังคงมุ่งมั่นยึดหลักในการช่วยเหลือประชาชนในการรักษาจากการบริหารจัดการยา ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้เพิ่มรายการยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงอย่างต่อเนื่องในกลุ่มยาต่าง ๆ นอกจากนี้นโยบายด้านยาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา รวมถึงการบริหารจัดการยาของสปสช. จะส่งผลให้เกิดการต่อรองราคายาโดยรวม ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดงบประมาณให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ปีละเกือบหมื่นล้านบาท แต่จะช่วยประหยัดงบประมาณให้กับกองทุนรักษาพยาบาลอื่นด้วย ซึ่งเชื่อว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาจะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง  ยกตัวอย่าง กรณีโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ สปสช. ก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจ RQ-PCR ได้แล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์แม้ตอนนี้ทางเลือกในการเข้าถึงยารักษาอาจจะยังไม่เต็มที่ แต่ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป

     ด้าน พญ.จิตสุดา บัวขาว ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมการแพทย์นั้นมีเป้าหมายก็คือ “ให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ดังเช่น ในปี 2558 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์การเภสัชกรรม ในการบริหารจัดการยาอิมมาตินิบซึ่งเป็นยาบริจาค ทางกรมฯ มีความรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทย ให้กับบรรดาผู้ป่วยผู้มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ และมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์

       ด้านนางกรรณิการ์ พฤกษชาติ  ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนครอบคลุมทุกโรค รวมถึงโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอิลอยด์และมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์  ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและกลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้อีกด้วย

ด้านมร. โทมัส วายโกลด์ ประธานฝ่ายยามะเร็ง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาใต้ บริษัทโนวาตีส เอจี จำกัด กล่าวถึงบทบาทของผู้ผลิตในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งว่า บริษัท โนวาร์ตีส ฟาร์มา เอจี ผู้คิดค้นนวัตกรรมและผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ยาที่สามารถคิดค้นได้นั้นจะไม่มีประโยชน์ หากไม่สามารถช่วยบรรเทาโรคของผู้ป่วยได้  ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีปณิธานในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงยานวัตกรรมผ่านโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยต่างๆ ซึ่งได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 66 ล้านคนทั่วโลก ให้เข้าถึงยาของบริษัทฯ โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยดำเนินการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาใต้

               โครงการต่าง ๆ จะไม่สามารถมีความยั่งยืนได้ หากขาดความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่น กระทรวงสาธารณสุข กองทุนประกันสุขภาพ และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วย สำหรับประเทศไทยทางโนวาร์ตีสได้ดำเนินโครงการจีแพปมาเป็นปีที่ 14 แล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 และได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยมากกว่า 4,980 ราย โดยมีผู้ป่วยในโครงการที่มีชีวิตอยู่และยังได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนถึง 2,415 ราย และยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่กำลังจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต ปัจจุบันโรงพยาบาลและศูนย์การรักษาพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจีแพป ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 73 แห่ง     และมีแพทย์เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 215 ท่าน  การที่โครงการ จีแพป  ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับยาที่ดีที่สุดและสร้างกำลังใจ แก่ผู้ป่วย จึงก่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยและสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมด้วยความพร้อมทั้งกายและใจ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนของตนเองต่อไปในภายภาคหน้า