วันแถลงข่าวเปิดตัวดารานักแสดงเดินทางมาร่วมเปิดตัวยิ่งใหญ่กับภาพยนตร์เรื่อง“ถึงคนไม่คิดถึง FROM BANGKOK TO MANDALAY” ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่รับการอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำในสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนที่สำคัญต่างๆ ของประเทศเมียนมาร์ และรวมดาราชื่อดังอันดับ 1 ของเมียนมาร์ มาร่วมแสดงนำโดย Sai Sai Kham Leng (ไซ ไซ คำ แลง ป็อบสตาร์ อันดับ 1 ของเมียนมาร์), Wutt Hmone Shwe Yi (วุด มน ชเว ยี นักแสดงหญิงอันดับ 1 ของเมียนมาร์), Nay Toe (เน โท นักแสดงชายอันดับ 1 ของเมียนมาร์) และ 2 นักแสดงไทย น้ำหวาน-พิไลพร สุปินชุมภู และ อั๊ต-อัษฎา พานิชกุล ผลงานกำกับของ ชาติชาย เกษนัส อำนวยการสร้างโดย มาเจนตา ฟิล์ม สตูดิโอ เพลงประกอบภาพยนตร์โดย Bruno Brugnano จัดจำหน่ายโดย ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์)
ถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย เมื่อทีมงานและนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง “From Bangkok to Mandalay” (ฟรอม แบงค็อก ทู มัณฑเลย์)หรือชื่อภาษาไทยว่า “ถึงคน..ไม่คิดถึง” เป็นหนังเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากทางการพม่า ที่สามารถให้ยกกองเข้า
ไปถ่ายทำตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ของพม่า หลังจากที่พม่าปิดประเทศมานานกว่า 50 ปี โดยชาติชายกล่าวว่า
“ซึ่งผมขอเล่าในส่วนของประเทศพม่าอันน่าตื่นเต้นก่อน ผมสนใจอ่านประวัติศาสตร์มาตลอดไม่ว่าของประเทศไหนจนได้ไปเที่ยวพม่า ทำให้ความคิดทั้งหมดทั้งมวลที่มีมาก่อนหน้านี้พังทลายลงเรียกง่ายๆ ว่า ต้องโยนหนังสือเรียนทิ้ง คนพม่าไม่เคยมองเราเป็นศัตรูเหมือนที่คนไทยมองพม่าเลย อันนี้ผมงงมากว่าเราติดหล่มความเชื่อนี้มานานแค่ไหนแล้ว เพราะคนพม่าไม่ได้มองความขัดแย้งแบบที่เราเคยได้ยินในประวัติศาสตร์ที่คนไทยได้รับรู้ต่อๆ กันมา ก่อนจะกลายเป็นประเทศไทยหรือพม่า ความสัมพันธ์เป็นการรบระหว่างเมืองอยุธยากับหงสา ฉะนั้นผ่านเวลาไปเขาไม่เคยรื้อฟื้นหรือมาขยายให้เป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพม่ามีเรื่องต่อสู้ยาวนานกับอังกฤษและเรื่องความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าต่างๆ เรื่องเหล่านี้ซีเรียสกว่าประวัติศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวกับไทยมากมายนัก ผมคิดว่ามันน่าตกใจไม่น้อยที่เรามีเพื่อนข้างบ้านแต่เรารู้จักเขาน้อยที่สุด แถมยังเข้าใจผิดด้วยนะ สรุปแล้วเรารู้จักพม่าจริงๆ หรือเรายังไม่รู้จักเขากันแน่? หลายๆ ที่ในพม่าที่ได้ไปสัมผัสเหมือนได้ย้อนเวลาไป 30-40 ปี มันสวยงามและบริสุทธิ์มาก เพราะการปิดประเทศมายาวนานทำให้การเติบโตการพัฒนาต่างๆ ถูกแช่แข็งไว้แบบนั้น รวมถึงจิตใจผู้คนด้วย ผมว่าหลายคนอยากให้กรุงเทพหรือเมืองไทยย้อนเวลาเหมือนกัน ย้อนไปในยุคที่เรายังไม่ได้แข่งขันไม่เครียดแล้วเราเป็นเพื่อนกับคนข้างบ้านกับคนในชุมชนเรา ผมเดินพม่าอยู่หลายวัน มองสำรวจไปทุกแห่ง จนกระทั่งฉุกคิดว่าความเป็นพม่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมเราหามันไม่เจอจนกลับมาเมืองไทย ได้มีโอกาสเดินสวนกับ อ.อานันท์ นาคคง ผู้เป็นเหมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ของผม เลยเกริ่นถามไปเล่นๆ ว่า ‘พี่หน่องครับ ผมหาจิตวิญญาณของพม่าไม่เจอ พี่พอจะแนะนำอะไรได้ไหม’ จริงๆ ว่าจะถามแกนานละแต่เข้าใจว่าแกน่าจะถนัดเขมรมากกว่าเลยลืมไป หนึ่งชั่วโมงต่อมาเรายืนคุยกันจนขาแข็ง(ลืมนั่ง) แล้วก็นัดแนะจองตั๋วเครื่องบินบุกพม่าตามล่าหา Spirits of Myanmar อ.อานันท์พาผมแล้วโปรดิวเซอร์ไปเยี่ยมโรงเรียนดนตรีคีตมิตร โรงเรียนดนตรีที่รวบรวมเอานักดนตรีทุกชาติพันธุ์จากทั่วแดนเมียนมาร์มาเรียนด้วยกันที่นี่ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างดนตรีคลาสสิค ป๊อบ พื้นเมือง พื้นบ้าน ราชสำนัก แจส ฯลฯ เด็กๆ ที่นี่เติบโตด้วยหัวใจที่เปิดกว้างพรสวรรค์และพรแสวงเปล่งเสียงออกมาให้พวกเราได้ยินตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น สุดท้ายผมคิดว่าที่นี่คือการเริ่มต้นที่ถูกที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมว่า ผมเจอละ Spirits of Myanmar มันอยู่ในเสียงดนตรีนั่นเอง สิ่งที่ผมได้หยิบติดมือกลับมาเมืองไทยคือเดโมเพลงหนึ่ง เพลงจาก“ดาเงะ” เด็กนักเรียนที่โรงเรียนดนตรีคีตมิตร ดาเงะอัดเพลงที่เขาร้องเพลงด้วยสมาร์ทโฟนเมื่อผมส่งผ่านไปถึงมือบรูโน มือทำเพลงประกอบภาพยนตร์และอดีตโปรดิวเซอร์เพลงที่แกรมมี่ มันทำให้บรูโนตาลุกวาวเช่นเดียวกับผม แม้เราจะฟังภาษาไม่ออกเลยก็ตาม ผมกับบรูโนพูดคุยกันจนดึกถึงเรื่องราวที่น่าจะเป็นไปได้ในหนังที่เรากำลังจะสร้างมัน บรูโนตื่นเต้นมาก ตอนเช้าบรูโนส่งเรื่องย่อฉบับของเขาเองมาให้ผมแล้วความคิดถึงระหว่างคน 2 ประเทศก็เริ่มขึ้น”