นิสิตเก่าวิศวะจุฬาฯจับมือภาครัฐ-เอกชน ขานรับยานยนต์แห่งโลกอนาคต



ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งหาวิธีการกำหนดมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสู่การใช้ในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และรถส่วนบุคคลในอนาคต นิสิตเก่าวิศวะจุฬาฯ จึงได้จัดงานสัมมนา “ประเทศไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า(EV) โดยดึงภาครัฐและเอกชนให้ความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า

 

ศาสตราภิชาน พูลพร แสงบางปลา แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักพัฒนาวงการยานยนต์ไทย กล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าได้รับการพัฒนาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ได้ชูเป็นนโยบายสำคัญ และมีแผนที่จะส่งเสริมให้ผลิตในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ประชาชนสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักรถยนต์ไฟฟ้ามากพอ หรือยังมีข้อสงสัยในหลาย ๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการใช้งาน การบำรุงรักษา เทคโนโลยี ความปลอดภัย ตลอดจนถึงนโยบายของภาครัฐที่จะออกมาส่งเสริมและรองรับนวัตกรรมยานยนต์ดังกล่าวควบคู่ไปกับการใช้งานของประชาชนและสอดคล้องกับภาคเอกชนจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ดังนั้น สมาคมนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการวิชาการยานยนต์ และคณะกรรมการวิศวกรอาวุโส จึงได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีแนวทางสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า แผนบูรณาการพลังงานประเทศ เช่น การร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทย จะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ แต่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานได้ถึงปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกว่าน้ำมันหลายเท่า โดยได้ตั้งเป้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579